วานนี้ (1 ธันวาคม) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กภายหลังเกิดกระแสสังคม รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านวิจารณ์การแก้ปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเนื้อหาระบุว่า
“ผมไม่เชื่อเรื่องการเมืองแบ่งภูมิภาค พรรคไหนเป็นของคนภาคไหน รัฐบาลนี้เป็นของคนภาคนั้น ไม่มีอยู่จริง การตั้งข้อสังเกตเรื่องทำให้บางภาคไม่ทำให้อีกภาค จึงเป็นเรื่องที่ผมเห็นต่างมาตลอด เพราะรัฐบาลทำงานแบ่งตามภาคไม่ได้
“สื่อมวลชนถาม แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีคนพูดว่าละเลยภาคใต้หรือไม่ เป็นเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อ ส่วนที่นายกฯ ตอบว่ามีสามีเป็นคนใต้ ย่อมไม่ละเลยคนใต้ ถ้าฟังด้วยใจนิ่งๆ ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการพูดเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นบางมุมระหว่างตัวเองกับคนภาคนี้ เพื่อยืนยันว่าไม่ทิ้งกัน
“เป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนายาวที่ให้ข้อมูลเรื่องแนวทางแก้ปัญหา และเหตุผลในการมาภาคเหนือ ไม่ใช่คำตอบเดียวในจักรวาลเพื่ออธิบายคำถามเรื่องภาคใต้
“การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรกำหนดไว้ล่วงหน้าพักหนึ่งแล้ว เหตุผลที่ไปเชียงใหม่ เชียงราย ก็ไม่ใช่เพราะเป็นลูกสาวคนเหนือ แต่ทั้ง 2 จังหวัดเพิ่งเกิดน้ำท่วมหนักในรอบหลายสิบปี รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ออกมาตรการเยียวยา ซึ่งผมแน่ใจว่าการโอนเงินเยียวยาน้ำท่วมเร็วที่สุด เจ้าของสถิติคือรัฐบาลชุดนี้
“เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติรัฐบาลก็มาจัดประชุมสัญจร ฉีดเม็ดเงินลงในพื้นที่ ปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยว และติดตามเนื้องานอื่นๆ ถ้ามองในมิติการแก้ปัญหาพื้นที่ประสบอุทกภัย ครั้งนี้คือครบวงจรทั้งเฉพาะหน้า เยียวยา และฟื้นฟูหลังน้ำลด ถ้ายกเลิกการประชุมกะทันหัน คำถามจะไม่เกิดขึ้นอีกหรือว่าทิ้งคนภาคเหนือ
“วันประชุม ครม. นายกฯ สั่งการให้ยกกระทรวงมหาดไทยทั้งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วย ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ ลงพื้นที่แก้ปัญหา มีการรายงานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากภาคใต้เข้าที่ประชุม ถือได้ว่าเป็นการประชุม ครม.สัญจร พร้อมกันทั้งจากตอนเหนือสุดและตอนใต้สุดของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ลงพื้นที่ในช่วงต่อมา
“เพจพรรคเพื่อไทยสรุปการดำเนินงานของรัฐบาลว่า ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมจนถึง 30 พฤศจิกายน มีรูปธรรมอย่างไร และต่อจากนี้จนถึงหลังน้ำลด ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะพิสูจน์ผลงานและความตั้งใจจริงต่อพี่น้องภาคใต้เหมือนที่มีต่อคนทุกภาค
“ความเห็นผม นายกฯ พูดเรื่องครอบครัวสามีเป็นคนใต้ เป็นมุมเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่จะขยี้กันจนแทบกลายเป็นวาระแห่งชาติ
“ผมห่วงใยพี่น้องที่น้ำท่วม แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะจัดการจนเราผ่านมันไปด้วยกันได้ ขณะเดียวกัน ผมห่วงใยบรรยากาศแบบนี้ด้วย แบบที่โจมตีกันทุกเรื่อง เล็กใหญ่ใส่หมดถ้าไม่ใช่ฝ่ายที่ตัวนิยม ไม่รู้เราจะผ่านจุดนี้ไปด้วยกันอย่างไร”