วันนี้ (12 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก โดยระบุว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลวันนี้ครบรอบ 1 ปีพอดี จากรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ต้องตั้งคำถามว่าเป็นเพราะปัญหาของหลักนิติรัฐใช่หรือไม่
หลักการนิติรัฐมีใจความว่าประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช้ด้วยตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การแสดงความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งในเวทีสาธารณะที่ผ่านมา สะท้อนแล้วว่าประเทศไทยเรากำลังขาดระบบนิติรัฐ คนที่มีอคติบางอย่างใช้อำนาจมาทุบทำลาย ประหารชีวิตพรรคก้าวไกล ที่กลายมาเป็นพรรคประชาชน
ณัฐพงษ์ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ คณะรัฐมนตรีก็กำลังตกเป็นเหยื่อที่นำมาสู่การอภิปรายนโยบายวันนี้ ประชาชนทุกคนกำลังตกเป็นเหยื่อของระบบการเมืองในวันนี้
“1 ปีที่สูญเปล่า จากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ การตัดสินใจ 3 ปีต่อจากนี้ ผมจะตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ว่ารัฐบาล 3 นาย นายใหญ่ นายทุน นายหน้า ที่มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง พูดง่ายๆ คือไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากเรายังอยู่ในระบบการเมืองแบบนี้ เพราะพวกท่านกำลังสยบยอมต่อกระบวนการนิติสงครามที่ทำลายหลักนิติธรรมและนิติรัฐของประเทศไทยไปจนสิ้น” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า หากมองย้อนกลับไป 1 ปี ประชาชนได้อะไรจากสัญญาของรัฐบาลเพื่อไทยชุดที่แล้วบ้าง ประชาชนคนยากไร้ก็สัญญาไม่เป็นสัญญา เพราะเงินใหม่ยังไม่เข้า หนี้เก่ายังไม่แก้ เกษตรกรเจอทั้งปัญหาหมูเถื่อน ปลาหมอคางดำ ภาคธุรกิจเจอปัญหาต้นทุนพลังงาน สินค้านำเข้าทะลัก ประชาชนขาดความมั่นคงในชีวิต รัฐบาลขาดอำนาจนำในการบริหารราชการแผ่นดิน
1 ปีที่สูญเปล่า
สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก และปรับแผนทยอยจ่ายเป็นเงินสด ไม่ใช่เงินดิจิทัลทั้งหมด และมีความน่ากังวลว่านโยบายบล็อกเชนจะยังอยู่ในนโยบายนี้หรือไม่
“สรุปนโยบายเรือธงลำนี้แทบไม่เหลือเค้าโครงอะไรอีกแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าเรือธงลำนี้ให้ใครขึ้น ประชาชนขึ้นหรือให้นายคนไหน” ณัฐพงษ์ระบุ
ณัฐพงษ์ยังชี้ว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อแก้หนี้สินให้กับเกษตรกรและภาคธุรกิจได้ แม้จะเคยสัญญาว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า และรัฐบาลยังไม่ได้มีการเจรจาลดต้นทุนพลังงาน ประชาชนขาดความมั่นคงในชีวิต นโยบายปราบยาเสพติดไม่บรรลุผล จับกุมยาบ้าได้มากขึ้น แต่ยึดทรัพย์ได้น้อยลง แปลว่าสาวไม่ถึงต้นตอ ตลอดจนสวัสดิการเด็กเล็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานชีวาภิบาลก็ไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในคำแถลงนโยบายทั้งที่เคยมีในรัฐบาลชุดก่อน
ณัฐพงษ์ยกข้อมูลสถิติจาก ThaiPublica สรุปได้ว่า 11 เดือนที่ผ่านมาในรัฐบาลที่แล้ว เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อสั่งการที่มีผลเทียบเท่ามติ ครม. ออกไปมากมายถึง 193 เรื่อง ส่งต่อไปถึง 251 หน่วยงานของรัฐ และมีถึง 163 เรื่องที่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ทำให้มีเพียง 10 เรื่องเท่านั้นที่หน่วยงานนำกลับมารายงานให้นายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าอาจมีปัญหาว่านายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจกลไกการทำงานของระบบราชการ หรือรัฐบาลไม่มีอำนาจนำ
นโยบายเรือธงเพื่อ 3 นาย?
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปถึงความท้าทายของประเทศในอนาคต 3 ปีต่อจากนี้ ที่คาดหวังว่าจะได้เห็นจากคำแถลงนโยบายที่เป็นรูปธรรม อาทิ วิกฤตการศึกษา มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก คนไทยขาดทักษะจำเป็นในโลกอนาคต ด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ สินค้านำเข้าทะลัก โรงงานทยอยปิดตัว และด้านการแข่งขันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
“ความท้าทายด้านชีวิตรายวัน ประชาชนคนไทยทุกวันนี้ยังต้องเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างมูลค่าความเสียหายให้ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ไหนจะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เคยปรากฏอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว กลับไม่ปรากฏอยู่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้” ณัฐพงษ์กล่าว
ด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม หากรัฐบาลทำงานเป็น สามารถจัดทำแผนการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ แม้ปัญหาเหล่านี้บางส่วนจะมีในคำแถลงนโยบายแล้ว แต่ยังคาดหวังรายละเอียดที่รัฐมนตรีจะลุกขึ้นตอบ เพราะยิ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน รัฐบาลยิ่งต้องรู้ลึก รู้จริง
ณัฐพงษ์ยังตั้งคำถามถึงนโยบายเรือธงที่กำลังมีคำถามว่าเป็นนโยบายเรือธง หรือเพื่อ 3 นาย นายใหญ่ นายหน้า และนายทุน เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเรือธงที่ให้นายใหญ่ขึ้นใช่หรือไม่ นโยบายสถานบันเทิงครบวงจร มีข้อครหาว่าจะล็อกการประมูล เอื้อประโยชน์บางกลุ่ม เป็นนโยบายเรือธงให้นายทุนหรือไม่ และนโยบายการเวนคืนที่ดินมากมาย เป็นนโยบายที่เอื้อนายหน้าค้าที่ดินหรือไม่
นอกจากนี้ เรื่องสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหานิติรัฐและหยุดนิติสงคราม กลับไม่ได้ปรากฏในนโยบายเร่งด่วนและนโยบายเรือธง มาวันนี้ที่ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ควรจะกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนได้แล้ว และประชาชนกำลังรอฟังผลลัพธ์ว่าการจัดตั้งรัฐบาลตัวแทนที่สงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ตัวจริง จะช่วยให้ 3 ปี ต่อจากนี้เจ๊าหรือเจ๊งหรือไม่ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ
หวังเห็นภาวะผู้นำนายกฯ แก้รัฐธรรมนูญด่วน
ณัฐพงษ์ฝากข้อความถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า ในฐานะที่ตนเองและนายกรัฐมนตรีเพิ่งมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในแต่ละซีกฝั่งการเมืองนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นเดียวกัน ตนเองและท่านเกิดและเติบโตมาในสังคมยุคเดียวกัน ถูกหล่อหลอมมาจากสถานการณ์การเมืองประเทศนี้มาแบบเดียวกัน
“ผมคิดว่าท่านผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่ท่านได้รับผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัยหนักกว่าผมเสียอีก วันนี้ท่านมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวผมมาเป็นหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ถูกคาดหมายได้ว่าจะได้เสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านในอนาคตอันใกล้นี้ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งนอกจากบริบทและสถานการณ์พาไป อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรา 2 คน ตัดสินใจมาเพื่อเดินหน้าต่อให้คนที่อยู่ข้างหลังของพวกเรา” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์ระบุว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีนอกจากการรับฟังความเห็นของสมาชิกแล้ว ยังต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้กับสังคมด้วย และหวังว่านายกรัฐมนตรีจะลุกขึ้นตอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระด่วนของประเทศนี้ และมีประเด็นที่ต้องแก้ไขด่วนคือแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม, ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร, ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สามารถร่วมกันทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ