วันนี้ (28 พฤษภาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณ โดยระบุว่า เป็นปีที่สองติดต่อกันที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งงบขาดดุลสูงสุดจนเกือบเต็มเพดาน กำหนดกรอบงบประมาณไว้ที่ 3.78 ล้านล้านบาท
ขณะที่มีการประมาณการรายได้ของรัฐไว้เพียง 2.92 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี ซึ่งหากใช้ตัวเลขจีดีพีใหม่ ที่มีการปรับลดลงมาแล้ว สัดส่วนตรงนี้ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปี 2568 รัฐบาลทำสถิติที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่า ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยการขาดดุล เป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงสุดในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่ ปี 2532 ที่สำคัญเศรษฐกิจการคลังเก็บสถิติ
“สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการกู้ แต่คือเรื่องการใช้เงินเกินตัว โดยไม่มีแผนการลงทุน และการหารายได้มารองรับ และการกู้โดยไม่มีแผน ไม่มียุทธศาสตร์ใดๆ ไม่มีการเชื่อมโยงกับการสร้างศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต มีแต่การกู้ซ้ำๆ ไปลงกับโครงการเดิมๆ ไม่ได้สร้างรายได้ ไม่ได้สร้างอนาคตให้กับประเทศ” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์ชี้ว่า งบประมาณปี 2569 จึงเป็นกระจกสะท้อนชั้นดีว่า รัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่ไร้ทิศ ไร้ทาง และไร้ภาพ ไม่ได้จัดงบ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ปล่อยให้การบริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในระบบของราชการประจำ เพราะใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ไม่ได้เอาสมาธิ ไปจดจ่อกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือนำประเทศผ่านพ้นวิกฤติ
“สิ่งที่ตอกย้ำได้ชัดเจนมากที่สุด อาจจะไม่อยู่ในงบของปี 2569 แต่อยู่ในงบกลางปี 2568 ที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาบอกว่า กำลังจะเปลี่ยนงบดิจิทัลวอลเล็ต ไปใช้กับการลงทุนระยะสั้น จำนวน 1.57 แสนล้านบาท ฟังเผินๆ อาจจะดูเหมือนคิดใหม่ ทำใหม่ แต่เมื่อดูการบริหารจัดการจริง ก็ยิ่งตอกย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่มีภาพอะไรในหัวเลย เพราะนี่คือการโยนเงินจำนวนนี้ ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่งทั่วประเทศ ส่งคำของงบประมาณเข้ามาให้ทันภายใน 3 วัน” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์ชี้ว่า วิธีการแบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล ไม่มีแผนแม่บท ไม่มีวิสัยทัศน์ร่วม ไม่มีเป้าหมายระดับประเทศ ลองมาให้พวกเราจัดสรรงบประมาณ น้ำประปาสะอาดทั่วทั้งประเทศ มีขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์อีวี และยังมีอีกหลายๆ อย่าง ที่พัฒนาอนาคตลูกหลานได้ดีกว่านี้ นี่ไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างมียุทธศาสตร์ แต่เป็นการกระจายภาระไปให้ท้องถิ่นคิดแทนรัฐบาล
“หรือไม่ก็ตั้งคำถามว่า เป็นการกระจายผลประโยชน์ไปให้เฉพาะกลุ่มเครือข่าย ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ที่รู้ข่าวล่วงหน้า จึงจะสามารถจัดทำคำขอเข้ามาได้ทัน ภายในการกำหนดกรอบระยะเวลาอันสั้นนี้ ใช่หรือไม่” ณัฐพงษ์ระบุ
ณัฐพงษ์อภิปรายด้วยว่า รัฐบาลที่บริหารเป็น ย่อมเข้าใจ และรู้จักใช้กลไกมาตรการการลงทุนผ่านกองทุนของเอกชน โดยการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล แบบเปิดกว้างในการพัฒนาประเทศร่วมกัน จูงใจร่วมลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน สร้างแรงบันดาลให้ทุกคนในประเทศเห็นทางออก และสร้างภารกิจเป้าหมายเดียวกัน นี่คือโฉมหน้าของรัฐบาลที่ประชาชนคนไทยอยากเห็นใช่หรือไม่ ถ้าเราจะใช้พลังเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งที่สำคัญกว่าการมองเห็นเงินในกระเป๋า คือการรู้จักใช้เงินในกระเป๋าให้เกิดผลทวีคูณในระบบเศรษฐกิจ
รมว.คลัง บอกไทยกำลังโต งบต้องขาดดุลสักพัก
ต่อมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวชี้แจง โดยระบุว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็รู้สึกกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ก็เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ซึ่งทุกคนก็คาดหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการใช้จ่ายที่มากขึ้น และมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนแคบลง
ทั้งนี้ พิชัยกล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป และเคยวางเป้าว่า จีดีพีที่เคยวางไว้ว่า จะผลักดันให้เกิน 3% ขึ้นไป แต่วันนี้มีการปรับจีดีพีลงมา เหลือเพียง 1.8% แต่ยังมั่นใจว่าจะสามารถเก็บรายได้ในปี 68 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และเชื่อว่า เงินขาดดุลคงคลังคงไม่มากไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม พิชัยกล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยหากย้อนหลังไปช่วงที่จีดีพีโตถึง 6-10% เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จะพบว่า เงินลงทุนภาคเอกชนสูงถึงประมาณ 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันการลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ 20 % แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในไทยหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนหายไป SMEs ลดลง ห่วงโซ่อุปทานหายไป มองไม่เห็นโอกาสในการส่งออกจึงไม่เกิดการจ้างงาน อีกทั้งสินค้าที่ไทยส่งออกมีมูลค่าน้อย โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งหากต้องการผลักดันเศรษฐกิจต้องมีการสร้างความพร้อมและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำได้จากงบประมาณภาครัฐ และสนับสนุน การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP มากขึ้น เพื่อให้เอกชนและผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น
“งบประมาณที่จัดปีนี้ มั่นใจว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มรู้แล้วว่า สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้เปลี่ยนในระยะเวลาอันสั้น เราคงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ให้โครงสร้างเศรษฐกิจ พึ่งพาในประเทศมากขึ้น และเราจะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” พิชัยกล่าว
พิชัยยังชี้แจงถึงการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาแล้ว 8.5 แสนล้านบาท มา 2 ปีงบประมาณ หรือประมาณ 4% กว่า แต่มีการคืนเงินต้นอยู่ด้วยที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท หรือ ประมาณ 3% กว่า
“ทำไมยังต้องทำงบขาดดุล ผมคิดว่า ไทยยังอยู่ในเขตเอเชีย ยังเป็นเด็กที่ยังไม่โต อยู่ใน Growth Country (ประเทศที่กำลังเติบโต) เพราะฉะนั้นต้องสร้างแบบขาดดุลสักพักหนึ่ง เพราะอีกปัญหาหนึ่งเราต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศใหม่ การขาดดุลยังจำเป็นอยู่ แต่เมื่อขาดดุลเราคำนึงถึงหนี้ต่อจีดีพี อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้” พิชัยกล่าว
พิชัยชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท โดยมองว่า การส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะใส่เงินไปยังผู้บริโภค จึงนำเงินไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อผลักดันการผลิตในประเทศมากขึ้น และยอมรับว่า การเตรียมความพร้อมในการงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา แต่ยังจำเป็นต้องทำ พร้อมกับฝากให้ สส. ช่วยพิจารณางบปี 2569 อย่างละเอียด และสามารถแปรญัตติเพื่อนำงบไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้