×

‘สงครามเย็นจบแล้ว ความรู้แบบเก่าหมดความขลัง’ สัมภาษณ์ ‘ณัฐพล ใจจริง’ 90 ปี 24 มิถุนา 2475

23.06.2022
  • LOADING...
ณัฐพล ใจจริง

เรื่องราวในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 กลับมาสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้างอีกครั้ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ ‘ทะลุฟ้า-ทะลุเพดาน’ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเกิดกลุ่มแนวร่วมของนิสิต-นักศึกษา-ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในชื่อ ‘คณะราษฎร 2563’ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ซึ่งประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีตามกติการัฐธรรมนูญ 2560 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวกับที่มาหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประกอบกับมีคดียุบพรรคการเมืองใหม่อย่าง ‘อนาคตใหม่’ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวชุมนุมเมื่อปี 2563 นำโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้แสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ‘ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง’ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร ในวาระ 123 ปี ชาตกาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สำนักพิมพ์มติชน, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ​, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งผลงานเขียนของนักวิชาการผู้นี้จัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของหนังสือที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในทศวรรษนี้นิยมอ่าน 

 

ณัฐพล ใจจริง

 

สมัยที่อาจารย์ณัฐพลเป็นนักเรียน ตอนนั้นได้เรียนประวัติศาสตร์ที่เน้นเหตุการณ์ยุคไหน และประวัติศาสตร์ 24 มิถุนา 2475 ได้รับรู้เมื่อไร 

ผมเป็นคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ เกิดในยุคสงครามเย็น เติบโตและเรียนรู้ในยุคสงครามเย็นตอนปลาย ก็อย่างที่ทราบกันเป็นยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ เดินตามอเมริกา อะไรที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะคติเรื่องเกี่ยวกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงไป 

 

ดังนั้นบทบาทของรัฐก็คือการหล่อหลอมให้เด็กๆ ในยุคนั้นเติบโตขึ้นมาภายใต้บล็อกหรือแบบที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร บรรยากาศทางสังคม ทีวีที่มีน้อยช่อง วิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่แบบเดียว พูดอยู่ไม่กี่เรื่อง ข่าวก็เป็นอย่างที่รัฐกำหนด ไม่มีใครแหกกรอบอะไร 

 

การศึกษาในช่วงนั้นก็คือการใส่โปรแกรมเข้าไปในหัวของเด็ก ภาษาปัจจุบันก็คือการใส่ซอฟต์แวร์เข้าไปในหัวของเด็ก ดังนั้นวิชาสังคม ภาษาไทย ก็จะพูดเรื่องความเป็นไทยคืออะไร ประวัติศาสตร์ก็จะพูดแต่ ‘ประวัติศาสตร์มหาบุรุษ’ มหาบุรุษเป็นผู้รักษาเอกราชของชาติ ประชาชนไทยควรจะต้องตระหนักและสำนึกถึงผู้พาประเทศชาติให้อยู่รอดอยู่เสมอ จะประมาณอย่างนี้ เน้นมหาบุรุษ มหาราชต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักรบ เป็นนักกู้ชาติ เป็นนักรักษาเอกราช ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงสร้างภาษาไทย, หลักศิลาจารึกหลักแรก, พระนเรศวรเป็นนักการทหารที่เข้มแข็ง, พระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผู้ตั้งกรุงเทพฯ, รัชกาลที่ 5 เป็นผู้รักษาให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย และพระราชกรณียกิจต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตจะถูกใส่เข้ามาในหลักสูตรมากมาย 

 

แต่เรียนสมัยนั้นก็ไม่ได้สงสัยอะไร ไม่มีบรรยากาศที่ก่อให้เกิดการคิด ก็คือเชื่อและสอบให้จบกันไป ไม่ได้รู้สึกว่าความรู้นั้นมีปัญหา 

 

ส่วน 24 มิถุนา 2475 ก็เรียนตอนมัธยมปลาย ม.5-6 เรียนอยู่นิดเดียว และมาเรียนเยอะๆ สมัยเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เข้ามหาวิทยาลัยปี 2532 เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยค่อนข้างเยอะ จะพูดถึง 2475 เยอะ ได้อ่านเยอะตอนเข้าสู่มหาวิทยาลัย เหมือนอีกโลกหนึ่งเลย ความรู้ทั้งหมดที่เราเรียนมาแทบใช้ไม่ได้ แล้วหลักสูตรกระทรวงศึกษาสอนในสิ่งที่ไม่เหมือนในมหาวิทยาลัย เป็นคนละเวอร์ชัน เพราะไม่มีคำถาม มีแต่ความเชื่อ แต่ในมหาวิทยาลัยจะมีแต่คำถาม อ่านหนังสือหลากหลาย ทั้งแนวกระแสหลัก กระแสรอง ขณะที่สมัยเด็กๆ อ่านอยู่แบบเดียว เป็นหลักสูตรแห่งชาติแบบนั้น    

 

ณัฐพล ใจจริง

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษ เหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 จะถูกพูดถึงเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย กระทั่งปี 2563 ถูกพูดถึงในวงกว้าง มีปรากฏการณ์ทะลุฟ้า-ทะลุเพดาน โดยมีหนังสือของอาจารย์อยู่ในลำดับต้นๆ ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่นิยมอ่าน อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร 

ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กยุคปัจจุบันได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย เพราะว่าสงครามเย็นมันจบแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว ความรู้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเขามีทางเลือกมากขึ้น พวกเขาโชคดีที่เกิดมาในยุคสงครามเย็นจบ โลกเปิดกว้างมากขึ้น โลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น เทคโนโลยี บรรยากาศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีปัญหานิดหน่อยคือ ในช่วงหลังรัฐประหารจะค่อนข้างแย่ แต่โดยรวมแล้วดีกว่าผมที่เกิดในยุคสงครามเย็น ซึ่งสมัยนั้นผมแทบไม่ตั้งคำถามอะไรเลย ขณะที่เด็กยุคใหม่จะตั้งคำถามมากขึ้น 

 

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กะลาเปิดคือ สงครามเย็นจบ โลกเปลี่ยนแปลงไป โลกไม่ได้แบ่งค่ายแบบเดิมอีก ดังนั้นกะลาที่ครอบคนรุ่นใหม่ก็ถูกเปิดออก การเดินทางมีราคาถูกลง เด็กๆ ไปเที่ยวเมืองนอกมากขึ้น ได้ดูโลกมากขึ้น เขาก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นความรู้แบบเดิมๆ ที่เคยครอบพวกเขาไว้ มันถูกตั้งคำถาม ความรู้แบบเก่าเสื่อมลง หมดความขลัง ไม่ขลังแล้ว ไม่ได้เป็นความรู้ที่สามารถครอบจักรวาลได้อีกแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกสมัยใหม่เป็นเรื่องวิทยาการ การศึกษา เสรีภาพ ประชาธิปไตย โลกสมัยใหม่เกิดขึ้น

 

ผมเกิดในยุคสงครามเย็น เติบโตและเรียนรู้ในยุคสงครามเย็นตอนปลาย มาเข้ามหาวิทยาลัยในยุคประชาธิปไตย กะลาถูกแง้มออกในบรรยากาศแบบมหาวิทยาลัย ความสงสัยจึงเริ่มต้นขึ้นในสมัยปริญญาตรี ตั้งคำถามและสงสัย แต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะว่าเพิ่งหลุดพ้นออกจากยุคสงครามเย็น กำแพงเบอร์ลินเพิ่งทลายลง ผมได้เห็นเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศแบ่งค่ายโลกคอมมิวนิสต์-โลกเสรีก็เริ่มหมดไป การพูดถึงโลกคอมมิวนิสต์ในชั้นเรียนก็ไม่ได้เป็นอันตรายอีกแล้ว ไม่ได้น่ากลัวแล้วก็ไม่ได้น่าสนใจอีกแล้ว บรรยากาศมีเสรีภาพมากขึ้น 

 

ณัฐพล ใจจริง

 

จุดเริ่มต้นศึกษา 2475

ผมเริ่มคิดและค้นคว้า 2475 อย่างจริงจังช่วงเรียนปริญญาโท ส่วนตอนปริญญาตรีไม่ได้สงสัยมาก คือเรียนให้จบ มาคิดมากช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงประชาธิปไตยของไทย เรามีบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ 

 

พอเรียนจบเริ่มมีเงินก็เริ่มซื้อหนังสือเก่า เริ่มสะสม จากนวนิยายวรรณกรรมก่อน แล้วก็เริ่มมาเก็บการเมือง พอมาเรียนปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ ก็มาเก็บตำราเก่าๆ ด้านการเมือง เริ่มอ่าน 2475 สนใจเพราะเป็นจุดเริ่มต้นประชาธิปไตย จึงสนใจมากขึ้น

 

เมื่อศึกษา 2475 ก็พบว่ามีคำอธิบายอยู่ 2 แบบตามความเข้าใจของผม ณ ตอนนั้น ก็คือ 1. อธิบายแบบอนุรักษนิยม คือมองว่าคณะราษฎรเป็นพวกเนรคุณ เป็นข้าราชการที่เนรคุณ เพราะกินข้าวแดงแกงร้อนแล้ว ทำไมมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำไมทำแบบนั้น จากทัศนะอนุรักษนิยมก็จะมองว่าการกระทำที่เปลี่ยนแปลงผู้มีพระคุณเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม สำหรับพวกเขามองว่าเงินเดือนที่สมาชิกคณะราษฎรได้รับเป็นเงินที่มาจากผู้มีพระคุณ 

 

ส่วนอีกมุมหนึ่งที่อ่านเจอเป็นมุมมองแบบมาร์กซิสต์ ก็จะบอกว่าคณะราษฎรมาจากชนชั้นกลาง เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นการปฏิวัติของกระฎุมพี มองว่าเปลี่ยนแปลงไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ต้องการเลื่อนขั้นเป็นนายพลเสนาบดี เป็นพวกกระฎุมพี (คนชั้นกลาง ชนชั้นพ่อค้า) ไม่เคยสนใจคนข้างล่าง ซึ่งผมมองว่ามันก็ไม่จริงทั้งหมด 

 

ผมก็เพียงแต่หาวิธีการศึกษาแบบอื่น ดังนั้นผมเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะศึกษา 2475 ในแง่มุมอื่นบ้างได้ไหม 

 

การเรียนรัฐศาสตร์สมัยผม เวลาพูดถึงปัญหาการพัฒนาการเมืองก็มักจะพูดเพียงเรื่องบทบาทกองทัพ ความขัดแย้งในสังคมไทย ความขัดแย้งในการเมืองไทยก็มีแต่กองทัพกับพลเรือน มีอยู่แค่นี้ ผมก็เลยคิดว่ามีตัวแปรอื่นไหม มีสมการอื่นไหมในการเมืองไทย ที่ไม่ใช่เพียง 2 ตัวนี้ 

 

ช่วงนั้นบรรยากาศเปิด มีงานวิชาการจากโลกตะวันตก คนไทยเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น ทำให้คิดไปถึงตัวแสดงอื่นที่ไม่มีอยู่ในสมการการเมืองไทยที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน เริ่มคิดและได้เห็นเหตุการณ์ 2535 ความวุ่นวาย และการยุติลง 

 

ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ผมคิดได้เพราะบริบทเอื้อ คือ สงครามเย็นจบ แล้วเกิดกระแสวิชาการใหม่ๆ มีการตั้งคำถามให้คิดมากขึ้น หลักฐานใหม่ๆ ถูกเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2540 มีการตีพิมพ์งานสำคัญหลายชิ้น เช่น งานของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, งานของท่านชิ้น 100 ปี ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) ท่านบันทึกเพราะท่านเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงต้นระบอบใหม่ ท่านเป็นราชองครักษ์ของรัชกาลที่ 7 ท่านก็จดบันทึกไว้อย่างซื่อตรง บันทึกเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่ากลุ่มคนชั้นสูงคิดและทำอะไร 

 

ก่อนหน้านั้นอาจจะมีข้อจำกัดแห่งยุคที่ทำให้เราไม่ได้บวกสมการตรงนี้เข้ามา เรามองไม่เห็นในยุคนั้น เรามองแต่กองทัพ เมื่อเอกสารใหม่จากชนชั้นนำออกมา เราก็จะเห็นมากขึ้นว่าท่านทั้งหลายเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน ทำให้เราเข้าใจสมการที่หายไปมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ดังนั้นก็นำไปสู่การเขียนบทความหลายๆ ชิ้น เป็นการนำเสนอความรู้แบบใหม่ที่เกิดขึ้นต่อสังคม 

 

ณัฐพล ใจจริง

 

ในช่วงปลายรัชสมัยที่แล้ว ประชาชนผู้ที่สนใจการเมืองไทยหรือนักวิชาการเองมักจะย้อนไปพูดถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงยุคเดือนตุลา 2516-2519 แต่ทำไมอาจารย์จึงเลือกให้ความสำคัญกับการศึกษายุค 2475 และจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยศึกษามาก่อนที่จะมีกระแสวงกว้างในปี 2563 

สนใจ 2475 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย ประกอบกับการเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถ้าเรียนภาษาไทยอาจจะต้องย้อนกลับไปสุโขทัย เมื่อเรียนรัฐศาสตร์ก็ต้องเริ่มต้นที่ประชาธิปไตย 2475 

 

อีกอย่างหนึ่ง ความสำเร็จ 14 ตุลา 2516 สำหรับผมเป็นเพียงยอดน้ำแข็งของบารมีของสถาบันฯ ที่ทำให้เหตุการณ์นั้นยุติลงได้ แต่ยอดน้ำแข็งนั้นก็จะมีอดีตและเรื่องราวเช่นเดียวกัน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ 2516  

 

ดังนั้นผมก็เลยถอยไปดูในอดีตว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 เกิดระบอบใหม่ ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัดแบบนี้แล้ว เหตุใดบารมีทางการเมืองจึงเกิดขึ้นอย่างมากในปี 2516 จึงกลับไปย้อนอดีตจุดเริ่มต้นประชาธิปไตย และพัฒนาการขึ้น-ลงอย่างไรในตลอดช่วงตั้งแต่ 2475-2516 สำหรับผม ปี 2516 คือผลลัพธ์ของการสะสมหลังปี 2490 หรือหลังปี 2500 มากกว่าหลัง 2475 

 

ณัฐพล ใจจริง

 

ผ่านมายี่สิบกว่าปี สิ่งที่อาจารย์ศึกษาได้รับการพูดถึงในวงกว้าง อาจารย์มองอย่างไร

ผมว่าคนรุ่นใหม่ได้เปรียบที่เขามีตัวเร่งมากกว่าผม เขาคงได้เห็นเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เหตุการณ์รัฐประหาร 2557 เขาได้เห็นแล้วคงตั้งคำถามว่า เราเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว แล้วเกิดเหตุนี้อีกได้อย่างไรจากข่าวที่เห็น 

 

เขาคงไปอ่านงานเก่า ได้ทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นในจุดเริ่มต้น กระทั่งเกิดสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเขา คงจะเทียบเคียงแบบนั้น เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันได้ ทำไมเป็นเช่นนั้น 

 

บางคนเป็นผลผลิตของช่วงเวลา บางคนมีความคิดแตกต่างออกไป ตอนศึกษา 2475 ทำเพราะอยากทำ แต่ผ่านมายี่สิบกว่าปีจนถึงวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงก็ถือว่ามาเร็ว และหลังจากนี้อัตราเร่งอาจจะเร็วกว่านี้อีก เพราะมีเทคโนโลยี มีเครื่องมือมากกว่าเดิม  

 

ณัฐพล ใจจริง

 

90 ปี 2475 อาจารย์มองความคืบหน้าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร 

ผมว่ามนุษย์เราอยู่ด้วยความหวัง แม้หลายคนจะบอกว่ารัฐธรรมนูญก็แก้ยาก อะไรก็แก้ยาก อะไรก็ทำไม่ได้ เหมือนสิ้นหวัง แต่อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นคนสร้างสังคม สร้างระบบความเชื่อ แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างนั้นก็จะมากำหนดมนุษย์อีก มนุษย์สร้างสังคม สังคมก็ครอบงำมนุษย์ มนุษย์ที่อยู่ในช่วงนี้ก็มักจะคิดว่าตัวเองไม่สามารถต่อสู้กับสังคมหรือความเชื่อได้ แต่อย่าลืมว่ามนุษย์เราสร้างสังคม เราก็จะสร้างสังคมใหม่ได้เช่นเดียวกัน มันจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างลงตัว สามารถเห็นหรือตระหนักรู้พร้อมกัน สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นให้ดีขึ้นได้ สร้างสังคมใหม่ไปเรื่อยๆ ถ้าคิดว่าสังคมกำหนดอย่างเดียวก็ทำให้เราสิ้นหวัง อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นคนสร้างสังคม เราสร้างใหม่ได้

 

ณัฐพล ใจจริง

 

อาจารย์อยู่ในยุคที่ค้นคว้าจากเอกสารจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย มองว่าโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนแปลงการเมืองได้มากหรือไม่ 

ผมว่าเป็นตัวเร่ง ทำให้เขาไม่อยู่ในกะลา ไม่ใช่ยุคอะนาล็อก ผมเป็นรุ่นที่ยังค้นข้อมูลจากบัตรคำบัตรข้อมูลซึ่งเป็นกระดาษกันอยู่ คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักแล้วอาจสงสัยว่าเอาวัตถุโบราณที่เป็นต้นไม้มีลิ้นชักเล็กๆ มากมายเข้ามาตั้งในห้องสมุดทำไม เด็กยุคใหม่ไม่ค้นแบบนั้นกันแล้ว ความรู้กำลังเปลี่ยน ไม่ได้ถูกครอบงำว่ามีแบบเดียวอีกแล้ว ความรู้มีหลายชุด ต่อสู้กันไปทั้งระบบความคิด ความเชื่อทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความรู้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising