วันนี้ (17 สิงหาคม) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะมาทำงานให้ประชาชน 4 ปีข้างหน้า ควรให้ สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนได้สอบถามถึงทิศทางการบริหารประเทศ
เพราะที่ผ่านเมื่อครั้งโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ก็ได้เปิดกว้างให้ สส. สอบถามถึงแนวปฏิบัติ ซึ่งการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมา ถ้าหาก สส. มีอะไรจะสอบถามก็สามารถเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์และชี้แจงได้ แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกลอาจจะไม่อภิปรายคุณสมบัติ เพราะที่ผ่านมาผ่านการเลือกตั้ง และประชาชนได้ตัดสินใจไปแล้ว
ส่วนทิศทางการโหวตนั้น ที่ประชุมมีมติไปแล้วว่าจะไม่โหวตสนับสนุนเศรษฐา เนื่องจากยังมีความคลุมเครือในการจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่เห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นอย่างไร โดยพรรคก้าวไกลจะให้โอกาสถึงวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะสรุปอีกครั้งว่าจะโหวตไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนก็จะโหวตไม่เห็นชอบ และต้องรอที่ประชุมว่าจะเสนอให้มีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ พรรคก้าวไกลถึงจะมีมติลงคะแนนเสียงให้อย่างไร
ณัฐชายังกล่าวถึงความเหมาะสมระหว่างแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐว่า แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียงใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนต้องการให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 ก็ต้องสนับสนุนพิธา แต่หากวันใดวันหนึ่งเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 พรรคก้าวไกลก็สนับสนุนเช่นกัน
“ไม่มีแนวทางหรือความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกจากพรรคพลังประชารัฐ หรือเห็นว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐนั้นดีกว่า เพราะที่ผ่านมาได้บอกกับประชาชนไปแล้วถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย และเห็นต่างกับพรรคพลังประชารัฐหรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และประชาชนได้ตัดสินใจแล้ว”
ส่วนญัตติของ รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอให้ทบทวนมติข้อบังคับรัฐสภาที่ไม่ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้นั้น ณัฐชากล่าวว่า ข้อบังคับสภาข้อที่ 29 ผูกโดยสภา มีปัญหาโดยสภา การที่ให้หน่วยงานภายนอกมาตัดสินนั้นไม่เห็นด้วย สภาผูกก็ควรให้สภาแก้ ดังนั้น จึงอยากให้ทบทวนญัตติที่ลงมติไปแล้วสามารถทำได้ ส่วนการกระทำที่ไม่อยากให้เกิดการทบทวนอาจเกรงว่าจะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอีกครั้ง จึงมองว่ามีความพยายามทำให้เป็นเกมการเมือง แต่ความถูกต้องควรคงอยู่คู่สภา และสภาควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งการตัดสินญัตตินี้ในครั้งที่ผ่านมา เคารพการทำหน้าที่ของประธาน ส่วนครั้งนี้ อยากจะขอความเห็นใจว่าเมื่อรัฐสภาที่ลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้วจะถูกบันทึกการทำหน้าที่ไปแล้วว่าทำถูกต้องหรือไม่
ณัฐชายังกล่าวถึงการที่พรรคก้าวไกลไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทยนั้นสวนทางกับการจะช่วยปิดสวิตช์ สว. ว่า วาทกรรมการบอกว่าก้าวไกลต้องโหวตให้เพื่อไทยโดยไม่ร่วมรัฐบาล เพื่อปิดสวิตช์ สว. นั้นไม่ใช่ เพราะตอนนี้ สว. กำลังใช้อำนาจของตนเองในการไม่โหวตให้พรรคที่ได้อันดับ 1 การปิดสวิตช์ สว. คือ สว. ต้องไม่มีความหมายในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ต้องให้เสียงของ สส. มีอำนาจมากกว่า ขณะนี้ สว. ได้ประสบผลสำเร็จแล้วที่ไม่โหวตให้พรรคอันดับ 1 และใช้กลไกบีบว่าจะไม่เลือกพรรคนั้นพรรคนี้ และให้กลัว สว. ถือเป็นการบีบทางอ้อม และเป็นการร่วมกันปิดสวิตช์ก้าวไกลมากกว่า
“ประชาชนออกมากดดัน สส. ทุกพรรคการเมือง อยากให้เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่พรรคอันดับ 1 ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราต้องพูดเรื่องนี้กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง เพราะเกิดความไม่ปกติในสังคม มีคนพยายามบิดเบือน พยายามพูดว่ารวมเสียงกันฟากฝ่ายหนึ่งชนะก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องผิดปกติในระบอบประชาธิปไตย”