ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็น 1 ใน 12 ชาติสมาชิกที่ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่ฮาวาย ซึ่งเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นั้นอาจไม่ได้รับการคุ้มครองจาก NATO เนื่องจากสนธิสัญญาไม่ครอบคลุมด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
หากมหาอำนาจต่างประเทศโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ หรือสำนักงานใหญ่ของกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโฮโนลูลู ก็ไม่มีข้อผูกมัดว่าประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือต้องลุกขึ้นมาปกป้องรัฐฮาวาย
“มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดที่สุด” เดวิด ซานโตโร ประธานสถาบันวิจัย Pacific Forum ในโฮโนลูลู กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้แต่ชาวฮาวายส่วนใหญ่เองก็ไม่รู้ว่ารัฐของตนอยู่นอกขอบเขตการคุ้มครองของพันธมิตร NATO
“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าฮาวายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา และด้วยเหตุนี้จึงได้รับความคุ้มครองจาก NATO” เขากล่าว
ซานโตโรชี้ว่า นัยนั้นปรากฏที่ชื่อของกลุ่มพันธมิตรนั่นคือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ โดยฮาวายอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ที่มีชายฝั่งตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
“สาเหตุที่ฮาวายไม่ถูกรวมนั่นก็เพียงเพราะว่าฮาวายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาเหนือ” ซานโตโรกล่าว
ข้อยกเว้นดังกล่าวระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในสนธิสัญญาวอชิงตัน (Washington Treaty) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘มาตรา 5’ (Article 5) ซึ่งถือเป็นเสาหลักของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่นำไปสู่การก่อตั้ง NATO ในปี 1949 หรือหนึ่งทศวรรษก่อนที่ฮาวายจะกลายมาเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา
แม้ว่ามาตรา 5 จะกำหนดให้มีการป้องกันตนเองร่วมกัน (Collective Self-Defense) ในกรณีที่ประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตีทางทหาร แต่มาตรา 6 ได้จำกัดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของสนธิสัญญาไว้ ทั้งยังระบุด้วยว่า ดินแดนที่เป็นเกาะจะต้องอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เหนือเส้นทรอปิกเหนือ (Tropic of Cancer)
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า ฮาวายไม่อยู่ภายใต้มาตรา 5 แต่กล่าวว่า มาตรา 4 ซึ่งระบุว่า ประเทศสมาชิกจะปรึกษาหารือกันเมื่อ ‘บูรณภาพแห่งดินแดน เอกราชทางการเมือง หรือความมั่นคง’ ของประเทศสมาชิกถูกคุกคาม น่าจะครอบคลุมสถานการณ์ใดๆ ก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อฮาวาย
อย่างไรก็ดี โฆษกกล่าวด้วยว่า การแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อให้ครอบคลุมฮาวายนั้นไม่น่าจะได้รับฉันทมติ เนื่องจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เองก็มีดินแดนที่อยู่นอกขอบเขตที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 ตัวอย่างเช่น NATO ไม่ได้เข้าร่วมในสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาร์เจนตินาในปี 1982 หลังจากที่กองกำลังทหารอาร์เจนตินาบุกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทของอังกฤษในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การลงนามสนธิสัญญาวอชิงตัน นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอินโด-แปซิฟิกในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้ฐานทัพสหรัฐฯ ในฮาวายมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการรุกรานของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการสนับสนุนการป้องกันไต้หวันจากการรุกรานของจีน
ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ จะไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) กำหนดให้วอชิงตันต้องจัดหาอาวุธเพื่อช่วยไต้หวันป้องกันตนเอง นอกจากนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังได้เสนอว่า เขาจะสั่งการให้ทหารสหรัฐฯ ปกป้องเกาะไต้หวัน หากไต้หวันถูกจีนรุกราน
ความสำคัญของฮาวายทางประวัติศาสตร์
นอกจากประเด็นทางภูมิศาสตร์แล้ว ฮาวายยังเป็นรัฐที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาในแง่ของประวัติศาสตร์อีกด้วย
“นี่คือสถานที่ที่เหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์เกิดขึ้น นี่คือจุดที่เราถูกโจมตี ซึ่งนำเราเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และยังนำพาเราไปสู่การปลดปล่อยฝรั่งเศสด้วย” จอห์น เฮมมิงส์ ผู้อำนวยการอาวุโสของโครงการนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกของ Pacific Forum กล่าว
“สำหรับชาวอเมริกัน รัฐนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วยสนับสนุนเราจนนำไปสู่การได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะ (กลุ่มพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย นาซีเยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี) ในที่สุด”
เฮมมิงส์ยังแสดงความเห็นถึงเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเช่นเดียวกับฮาวาย โดยเขามองว่า กวมก็ควรอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ NATO เช่นเดียวกัน
กวมถือเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างการแสดงแสนยานุภาพด้านอาวุธของเกาหลีเหนือกับการป้องกันภัยคุกคามจากโสมแดงของสหรัฐฯ โดยกวมเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน ซึ่งสหรัฐฯ สามารถส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-1, B-2 และ B-52 ข้ามภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจากฐานทัพแห่งนี้ได้
เฮมมิงส์เปรียบการที่กวมไม่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาของ NATO ว่า เหมือนกับการที่สหรัฐฯ ทิ้งให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่นอก Acheson Line ซึ่งเป็นเส้นที่สหรัฐฯ วาดขึ้นในเดือนมกราคม 1950 เพื่อขัดขวางสหภาพโซเวียตและจีนไม่ให้แพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเพียง 5 เดือนหลังจากที่เส้นดังกล่าวถูกวาดขึ้น สงครามเกาหลีก็ได้เริ่มเปิดฉากขึ้น
“ฝ่ายศัตรูกล้าที่จะก่อความขัดแย้งทางทหาร และสุดท้ายคุณก็ต้องทำสงครามอยู่ดี” เฮมมิงส์กล่าว
ซานโตโรสนับสนุนความคิดเห็นของเฮมมิงส์ โดยกล่าวว่า ควรรวมกวมเป็นส่วนหนึ่งของ NATO เพราะ “ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว กวมมีความสำคัญมากกว่าฮาวายเสียอีก” เขากล่าว
แนวร่วมโดยสมัครใจ
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า แม้ฮาวายและกวมจะไม่อยู่ในขอบเขตความคุ้มครองของ NATO แต่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรในระบอบประชาธิปไตย จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประเทศต่างๆ ในการยื่นมือช่วยเหลือสหรัฐฯ ในกรณีที่ฮาวายหรือกวมถูกโจมตี
หากเกิดการโจมตี “ผมคาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถรวบรวมแนวร่วมโดยสมัครใจ (Coalition of the Willing) ในภูมิภาคได้” หลุยส์ ไซมอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความมั่นคง การทูต และยุทธศาสตร์ ที่โรงเรียนการปกครองแห่งบรัสเซลส์ ในประเทศเบลเยียม กล่าว
ไซมอนยกตัวอย่างการตอบสนองที่แข็งแกร่งและรวดเร็วของพันธมิตรสหรัฐฯ หลังการโจมตี 9/11 ซึ่งเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ 74 ปีที่ NATO ประกาศใช้มาตรการป้องกันร่วมภายใต้มาตรา 5 ของสนธิสัญญา
“วอชิงตันเลือกที่จะขอรับการสนับสนุนผ่านช่องทางพันธมิตรโดยสมัครใจ ไม่ใช่ผ่านการสั่งการของ NATO” เขากล่าว “ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นปฏิกิริยาที่คล้ายกันหากเกิดการโจมตีกวมหรือฮาวาย”
ภาพ: ShutterStock
อ้างอิง: