สำนักข่าว AP รายงานว่า บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุชัดว่าจีนเป็นภัยคุกคามท้าทายความมั่นคง เพราะการดำเนินการของรัฐบาลจีนในขณะนี้กำลังสั่นคลอนกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ
รายงานระบุว่า ท่าทีของ NATO สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่ม G7 และเป็นไปตามความต้องการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ต้องการเรียกร้องให้ NATO มีการปรับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหม่ รวมถึงให้ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ส่งเสียงต่อต้านแนวทางการค้า การทหาร และสิทธิมนุษยชนของจีน
แถลงการณ์ของ NATO ระบุว่า เป้าหมายของจีนและพฤติกรรมที่แข็งกร้าว กำลังสั่นคลอนและท้าทายกฎระเบียบปฏิบัติสากลที่โลกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าผู้นำ 30 ชาติสมาชิก NATO จะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘คู่แข่ง’ หรือ ‘ศัตรู’ กับจีน แต่ก็ใช้วิธีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับจีนด้วยการระบุว่า นโยบายกึ่งบีบบังคับของจีนเป็นวิธีการที่คลุมเครือที่จีนนำมาใช้ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทั้งในแง่ของการทหาร การค้า เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร จนกลายเป็นความท้าทายของประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ NATO ได้เรียกร้องรัฐบาลกรุงปักกิ่งรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่เคยให้ไว้ และรีบดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบระหว่างประเทศด้วยความรับผิดชอบ
มติของ NATO ในครั้งนี้เป็นไปตามคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่มองว่า NATO น่าจะมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่ม G7 ซึ่งออกแถลงการณ์โจมตีจีนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียงอุยกูร์ และเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ทำให้จีนต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้การกล่าวหาของกลุ่ม G7 เช่นกัน
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะกลายเป็นชนวนให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับจีนตึงเครียดจนส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ขณะนี้มีแนวโน้มกำลังประสบปัญหาด้านการขนส่งสินค้าจนอาจทำให้สินค้าไปถึงที่หมายได้ล่าช้ากว่ากำหนด
โดยสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ รายงานอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมขนส่งทางเลือก (Container Shipping Industry) ที่ระบุว่า ปัญหาการขนส่งทางเรือที่ชะงักงัน เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ทำให้ท่าเรือที่สำคัญในภูมิภาคประสบปัญหาติดขัด สินค้าคงค้างที่ท่าเรือ จนน่ากลัวว่าจะทำให้การขนส่งทางเรือล่าช้ากว่ากำหนด และลุกลามบานปลายจนกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก
ทั้งนี้ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญปัญหาท่าเรือและผลกระทบที่ตามมาอาจจะต้องใช้เวลาแก้ไขนานหลายเดือน ซึ่งเกรงว่ากว่าจะแก้ไขได้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปีที่ความต้องการสินค้ามักเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญเช่นคริสต์มาส
อย่างไรก็ตามปัญหาที่มณฑลกวางตุ้งถือเป็นปัญหาซ้ำเติมอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือล่าสุด ที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพราะต้องรับมือกับดีมานด์มหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บวกกับเกิดวิกฤตที่คลองสุเอซ ทำให้สถานการณ์การขนส่งทางเรือยังไม่คลี่คลายดี โดยหลายท่าเรือสำคัญในยุโรปและเอเชียยังคงประสบปัญหาแออัด และต้องเร่งจัดการระบายสินค้าอย่างเร่งด่วน
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: