การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ National People’s Congress ถือเป็นการประชุมใหญ่ที่ใช้เวลาราวสองสัปดาห์ เพื่อผ่านร่างกฎหมายสำคัญในการบริหารปกครองประเทศ ซึ่งปีนี้จะถือเป็นปีแรกที่จีนกลับมาจัดแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง นับตั้งแต่การยุติการใช้นโยบาย Zero-COVID
แม้ว่าตัวแทนจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ราว 3,000 คนจะมารวมตัวกัน และยกมือสนับสนุนข้อเสนอทั้งหมดอย่างไม่ต้องสงสัย กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็มองว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมที่ควรค่าแก่การจับตามอง เพื่อดูว่าบรรดาคณะผู้บริหารของจีนวางแผนที่จะรีสตาร์ท หรือฟื้นฟูเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไว้อย่างไร รวมถึงการพบปะทำความรู้จัก หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ก็คือแนวทางนโยบายในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการบริหารจัดการกฎระเบียบของตลาด
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคในครั้งนี้ อาจถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะจะทำให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน กลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดนับตั้งแต่ เหมาเจ๋อตุง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจพรรคเลือนรางมากขึ้น
ในส่วนของตำแหน่งสำคัญที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ นอกจากนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่คาดว่าจะเป็น หลี่เฉียง และเหอลี่เฟิง พันธมิตรเหนียวแน่นของสีจิ้นผิงแล้ว ตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าจับตามองก็คือ การแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางจีน รัฐมนตรีคลัง และหัวหน้าคณะเฝ้าระวังด้านการธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ
ด้านประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตาดู ครอบคลุมการลงคะแนนในการแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติ และระบบตรวจสอบรายงานจากศาลฎีกา อัยการสูงสุด และคณะกรรมการสภานิติบัญญัติสูงสุด นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีการลงคะแนนเสียงในแผนปรับปรุงสถาบันพรรคและรัฐบาลซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้อำนาจการบริหารปกครองประเทศของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่ล้วนเป็นพันธมิตรของสีจิ้นผิง โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในปี 2018 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจมากขึ้น และเปิดทางให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศได้โดยตรง
แน่นอนว่าประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจะถือเป็นประเด็นหลักสำคัญสำหรับการประชุมในครั้งนี้ ตามด้วยแนวทางการจัดการปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และธุรกิจด้านการศึกษา ที่การเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ เลวร้ายเป็นอันดับสองรองจากครั้งที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 1970
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด รัฐบาลกรุงปักกิ่งน่าจะมุ่งกระตุ้นการเติบโต รักษาเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และป้องกันชนวนก่อวิกฤตการเงินในกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ จีนน่าจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ การหาแนวทางเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ตลอดจนแนวทางการบริหารประเทศในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความไม่เท่าเทียมกันในเชิงรายได้ อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง และความมั่นคงของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งการประชุมสำคัญที่แสดงให้เห็นโจทย์ยากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะต้องเผชิญ ซึ่งนอกจากประเด็นท้าทายด้านเศรษฐกิจแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นประเด็นที่น่าจับตามองเช่นกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐฯ กับบทบาทพันธมิตรของรัสเซียบนเวทีโลก
หลายฝ่ายมองว่าการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะเรียกความเชื่อมั่นว่าจีนกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากบังคับใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มงวดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากระยะเวลาการประชุมที่คาดว่าจะยาวนานมากกว่า 1 สัปดาห์อย่างที่ควรจะเป็น หลังจากที่การประชุมในปี 2020-2022 ถูกลดทอนให้สั้นลงเหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- ส่องรายชื่อ ‘5 แคนดิเดต’ ที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเศรษฐกิจของพญามังกรในยุค ‘สี 3.0’
- จีนยกแผน GDI ของ ‘สีจิ้นผิง’ ขึ้นหิ้งตัวอย่างการมีส่วนร่วมรับมือความท้าทายระดับโลก
อ้างอิง: