×

‘พ.ร.บ. ข่าวกรอง’ ล้วงข้อมูลได้ ไม่ต้องขอศาลก่อน แต่ฟ้องศาลขอดูเหตุผลการล้วงข้อมูลภายหลังได้

18.04.2019
  • LOADING...

พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับต้ังแต่วันที่ 17 เมษายน สาระสำคัญคือมาตรา 6 ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ล้วงข้อมูลบุคคลได้

 

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ใน 5 ประเด็น

 

ประเด็นสำคัญที่ ดร.ธนกฤต ชี้ให้เห็นคือกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบในการดำเนินการเพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น องค์กรศาล

 

ขณะที่ในมาตรา 6 วรรคสาม ยังมีบทบัญญัติคุ้มครองการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจถูกนำมาอ้างคุ้มครองในกรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ชี้แจงในหลายประเด็น

 

รศ.ดร.ปณิธาน ชี้แจงว่ากฎหมายประเภทนี้มีใช้ทั่วไปในหลายประเทศ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกับหน่วยงานข่าวกรองเข้าไปลดภัยคุกคาม โดยเฉพาะการก่อการร้าย วินาศกรรม และจารกรรม

 

การดำเนินการถูกกำกับโดยนายกรัฐมนตรี ขณะที่อีกหลายประเทศถูกกำกับโดยรัฐสภา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นกติกาสากลโดยพื้นฐาน แต่การปฏิบัติจริงมีการควบคุมโดยวิธีอื่นอีก 2-3 วิธี โดยของไทยก็มี เช่น หากเจ้าหน้าที่ทำไปเกินกว่าเหตุที่ควรจะทำ หรือทำด้วยความไม่รอบคอบ ก็สามารถส่งศาลฟ้องได้

 

อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังต้องให้เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานในการปฏิบัติการไว้ทั้งหมด เพราะหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีจะได้มีหลักฐานว่าทำอะไรไปบ้าง ซึ่งในอดีตหรือกฎหมายเดิมนั้นไม่มี

 

“กฎหมายฉบับใหม่นี้แทนฉบับเดิมตั้งแต่ พ.ศ. 2528 นอกจากจะทันสมัยขึ้นแล้วยังมีการดำเนินการเพื่อให้รอบคอบ รัดกุม และสามารถส่งศาลดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไปทำอะไรโดยไม่จำเป็น หมายความว่าถ้าไม่มีแนวโน้มก่อการร้ายจะไปทำไม่ได้ มันต้องมีสิ่งบอกเหตุ ยกตัวอย่าง ถ้าเราไม่ได้ทำอะไร เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มสื่อสาร วางแผน เตรียมการสะสมอาวุธ เรื่องเหล่านี้จะต้องมีบันทึกไว้ถึงจะมีการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

 

แจงประเด็นก่อนใช้อำนาจล้วงข้อมูล ไม่ต้องขอผ่านสภาฯ หรือศาล

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวชี้แจงประเด็นนี้ว่าทุกประเทศก็ใช้กฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน รวมทั้งประเทศประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการบอกต่อสภาฯ

 

“ตอนที่สหรัฐอเมริกาไปจับ บิน ลาเดน ก็ไม่ได้ไปแจ้งสภาฯ ก่อนนะครับ ตอนที่มีการปราบปรามการก่อการร้ายในอินโดนีเซียและมาเลเซียก็ไม่มีการแจ้งสภาฯ รวมทั้งในอังกฤษก็ไม่มีการไปแจ้งต่อสภาฯ ก่อน ขนาดไม่แจ้งต่อสภาฯ ก็ยังไม่สามารถป้องกันเหตุได้ อย่างที่เราเห็นการก่อการร้ายในสเปน อังกฤษ และฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้”

 

ยืนยันว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องทำกฎหมายฉบับนี้ และมีการทำประชาพิจารณ์ไป 2 รอบก่อนจะร่างกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนในสภาฯ ก็มีการทำประชาพิจารณ์ไปอีก 2 รอบ

 

ยืนยันว่าก่อนจะดำเนินการล้วงข้อมูลไม่ต้องขอศาลก่อน ถูกต้องหรือไม่

“ถูกต้อง เป็นการดำเนินการโดยปกติ แต่ต้องขออนุญาตนายกรัฐมนตรี”

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องมีแหล่งที่มา เช่น มีมิตรประเทศแจ้งว่าผู้ก่อการร้ายเดินทางมาแล้ว อยู่ดีๆ จะพยักหน้าสองคนระหว่างนายกฯ กับ ผอ.สำนักข่าวกรอง นั้นทำไม่ได้

 

ข้อกังวลคือกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้ใช้ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้โดยอ้างเรื่องภัยความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน ชี้แจงว่าเป็นความกังวลที่ต้องรับฟัง แต่สมมติเหตุการณ์ว่ามีการใช้กฎหมายฉบับนี้จัดการดำเนินคดี เราสามารถไปฟ้องศาลได้เลยเพื่อขอดูข้อมูลว่าที่ทำไปด้วยเหตุผลใด มีข้อมูลอะไรจึงต้องดำเนินการ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลใดๆ เจ้าหน้าที่จะโดนโทษเป็น 2 เท่า อันนี้เป็นข้อมูลที่หลายฝ่ายยังไม่เข้าใจ

 

ส่วนประเด็นบทบัญญัติในมาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งคุ้มครองการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการล้วงข้อมูลนั้น

 

รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่าศาลจะพิจารณาเมื่อมีการฟ้องร้องว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย หากไม่มีข้อมูล เจ้าหน้าที่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งคล้ายกฎหมายความมั่นคงที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่จะประมาทเลินเล่อไม่ได้ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการคุ้มครองเชิงป้องปราม

 

“อีกประเด็นคือสำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่เคยมีประวัติการทำงานเชิงการเมือง งานข่าวกรองจะเป็นเรื่องการต่างประเทศ การก่อการร้าย เราไม่ค่อยเคยได้ยินว่าสำนักข่าวกรองถูกใช้ไปในทางการเมือง เพราะเขาเองก็ระวังตัวค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันเราเข้าใจว่ามีหน่วยงานอื่นที่ประชาชนกังวลและถูกใช้ไปในทางการเมือง ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องระมัดระวังกัน”

 

สำหรับรายละเอียดของกฎหมายฉบับเต็มที่ ดร.ธนกฤต ตั้งข้อสังเกตและโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวมีดังนี้

 

“ข้อสังเกตต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

 

ตามที่ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 และให้ยกเลิก พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมนั้น ผมมีข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการเป็นการส่วนตัวในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังนี้

 

  1. การให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น องค์กรศาล แต่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นการเสนอและตรวจสอบควบคุมภายในหน่วยงานเดียวกันเอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไม่สุจริตและไม่ชอบธรรม และการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่

 

  1. การที่ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติให้ความคุ้มครองการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารที่กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุและเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีข้อดีในการให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ก็อาจจะเป็นเหรียญสองด้าน โดยอีกด้านอาจจะเป็นการอ้างและใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติกฎหมายในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้

 

  1. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่

 

  1. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลได้ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

 

  1. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้ อาจจะนำไปสู่

(1) การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ) พ.ศ. 2561 มาตรา 41 และมาตรา 7 (1)

(2) การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่นี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตาม พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 48 ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising