เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีจำนวน 67 มาตรา โดยให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 ธันวาคมเป็นต้นไป
เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ นอกจากเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ยังต้องการให้สอดคล้องกับหลักสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
บทเฉพาะกาลในมาตรา 60 จึงกำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มีผลทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 3 จำนวน 6 คน พ้นจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งก็คือวันนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ต้องสรรหากรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ กฎหมายกำหนดให้กรรมการชุดเดิมยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
สำหรับคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย 1. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง 2. นางเตือนใจ ดีเทศน์ 3. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ 4. นายวัส ติงสมิตร (ประธาน) 5. นายชาติชาย สุทธิกลม 6. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย (ลาออกตั้งแต่เดือนเมษายน 2560) 7. นางอังคณา นีละไพจิตร
สำหรับคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาการทำงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งภายใน ที่ในเวลาต่อมา นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ได้ยื่นหนังสือลาออกและขอให้มีผลในทันที โดยระบุว่า บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อ้างอิง: