×

เรื่องร้อนปี ‘61 จับตาแก้ พ.ร.บ.บัตรทอง เมื่อหมอกับภาคประชาชน เห็นไม่ตรงกัน

โดย THE STANDARD TEAM
09.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กฎหมายบัตรทอง จ่อรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 แต่ยังไม่สามารถผ่านการพิจารณาได้ เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างหมอกับภาคประชาชน
  • ประเด็นหลักที่ต่อสู้ถกเถียงกันคือสัดส่วนบอร์ด สปสช. ที่เพิ่มฝั่งโรงพยาบาลมากขึ้นแต่ไม่เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน รวมถึงเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
  • ปี 2561 เป็นปีที่ต้องจับตาดูว่าการปรับแก้ พ.ร.บ.บัตรทองจะสำเร็จลุล่วงในรัฐบาลนี้หรือไม่

ประเด็นสาธารณสุขฮอตฮิตในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา หากไม่พูดถึงการแก้กฎหมายบัตรทอง หรือพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คงไม่ได้ เพราะเป็นกระแสร้อนแรงในแวดวงสาธารณสุขที่มีข้อโต้แย้ง คัดค้านและยังไม่ได้ข้อยุติ

 

แม้สถานการณ์ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า กฎหมายบัตรทอง จ่อรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถผ่านมติคณะรัฐมนตรีง่ายๆ นั่นเพราะเมื่อส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่

 

โดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่คัดค้านเสียงแข็งต่อการแก้กฎหมายบัตรทอง เห็นได้ชัดจากการคัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทั้งวอล์กเอาต์ไม่เข้าร่วม ทั้งยึดเวที แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ในเรื่องการจัดซื้อยาจำเป็นแทนที่จะให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการต่อ โดยปรับแก้กฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจ  

 

 

รวมไปถึงประเด็นเรื่องสัดส่วนกรรมการ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข แต่กลับแก้เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการ หรือตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น และที่เห็นต่างมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่อง การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะออกมาอธิบายถึงประเด็นต่างๆ ว่า แท้จริงแล้วการแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการทำเพื่อประชาชนในภาพรวมทั้งหมด และยังเป็นการจัดระบบการบริหารจัดการเพื่อให้หน่วยบริการอยู่ได้ เพราะสุดท้ายการดำเนินการต่างๆ ก็ต้องเน้นทั้งประชาชนเป็นหลัก และต้องให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขทำงานได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญต้องลดปัญหาวิกฤตทางการเงินของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างเห็นว่า ปัญหาทางการเงินส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบบัตรทองที่ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง

 

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มเอ็นจีโอก็ออกมาเปิดเผยว่า แท้จริงเป็นเพราะการบริหารจัดการของโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังเดินหน้าคัดค้าน  และได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายบัตรทองฉบับนี้

 

 

เปิดประเด็นหลักที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   

THE STANDARD รวบรวมประเด็นหลักที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีหลายเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากประเด็นหลักที่ถกเถียงขัดแย้งกัน

  1. กรอบการใช้เงินกองทุนฯ ทั้งในด้านความครอบคลุมของค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสาธารณสุข ค่าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
  2. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด   
  3. เงินเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นใช้ตามระเบียบเงินบำรุงได้   
  4. นิยามบริการสาธารณสุข   
  5. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ  
  6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิและยกเลิกการไล่เบี้ย  
  7. การร่วมจ่ายการบริการ ซึ่งต้องให้เกิดความเท่าเทียมทั้งหมด หรือร่วมจ่ายก่อนการบริการ เป็นต้น

 

สำรวจจุดยืนภาคประชาชน ไม่คัดค้านที่จะแก้ แต่ต้องตรงจุด

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรีโดยยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังส่งผลต่อความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 15 ปีที่ผ่านมา โดยจะกระทบต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน กระทบต่อการกระจายบุคลากรสุขภาพไปยังพื้นที่ห่างไกลให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และกระทบต่อการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

นิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นหลักๆ ที่คัดค้านคือ 1. การแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเดิมทีเงินก้อนนี้จะลงไปตามจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ใดมีมากก็จะได้รับงบมาก ซึ่งผู้ป่วยย่อมมีจำนวนมากด้วย แต่หากเปลี่ยนไป งบประมาณก็จะไปตามบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งหากทำเช่นนี้จะมีผลทำให้เกิดการกระจุกตัวของบุคลากรสุขภาพในเขตเมืองใหญ่ ไม่กระจายไปตามจำนวนประชากรที่หนาแน่นในเขตชนบท ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ต้น ที่ยึดประชาชนเป็นหลัก

 

ประเด็นต่อมาคือ การจัดซื้อยามีการโอนอำนาจไปให้ทางโรงพยาบาลราชวิถีแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการทักท้วงจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สปสช. ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยา ซึ่งจริงๆ มีเพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ในการสั่งซื้อเท่านั้น แทนที่จะแก้กฎหมายให้ สปสช. ทำได้ กลับไม่ทำ กลับโอนอำนาจให้โรงพยาบาลราชวิถี หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขแทน

 

“ผมอยู่ในอนุกรรมการพิจารณาจัดซื้อยา ทำให้ทราบว่ามีปัญหาล่าช้า ติดขัดกระบวนการมาก เพราะโรงพยาบาลราชวิถีเป็นคนซื้อ แต่ไม่มีข้อมูลในเรื่องการจัดซื้อยา ก็ต้องไปอาศัยกลไกของ สปสช. ทำให้ และต้องส่งเรื่องเข้าอนุกรรมการพิจารณา และค่อยส่งไปยังโรงพยาบาลราชวิถีให้จัดซื้อ หลายขั้นตอนเกินไป แทนที่จะเป็น สปสช. ทำ ซึ่งรวดเร็วกว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นสัดส่วนกรรมการบอร์ดใหม่ ซึ่งไปเพิ่มให้หน่วยบริการ หรือฝั่งผู้ให้บริการจากโรงพยาบาลมานั่งในบอร์ดถึง 2 คน ซึ่งจริงๆ ผมก็เห็นด้วยที่จะมีผู้ให้บริการที่ปฏิบัติงานจริงๆ เข้ามา แต่จะดีกว่านี้หรือไม่หากให้สัดส่วนของภาคประชาชนเพิ่มเข้าในสัดส่วนเท่ากันด้วย” นิมิตร์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการแก้กฎหมายบัตรทอง เพราะการแก้ไขเป็นสิ่งดี แต่ต้องแก้ไขให้ตรงจุด และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจริงๆ แต่ปรากฏว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ กำลังเดินสวนทางเจตนารมณ์ที่จะสร้างความมั่นคงของระบบหลักประกัน  

 

ในขณะที่ในกฎหมายยังมีหลายประเด็นที่สมควรแก้กลับไม่มีการแก้ไข เช่น การแก้ไขเพื่อรองรับการปฏิรูประบบสุขภาพตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ข้อ ช (4) ที่มุ่งเน้น “ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ในมาตรา 9, 10 และบทเฉพาะกาล มาตรา  66 ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการของคนในระบบประกันสุขภาพ แต่ที่ผ่านมา กลับไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง

 

 

จุดยืนฝั่งโรงพยาบาล ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ต้อง win-win

ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า การแก้กฎหมายบัตรทองเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากัน มองภาพรวมจริงๆ ตนไม่อยากจะพูดว่าควรแก้อะไรอย่างไร แต่อยากให้มองว่า ที่ผ่านมาระบบมีปัญหาหรือไม่ ต้องยอมรับก่อนว่า มีปัญหา และต้องแก้ไขหรือไม่ หากไม่แก้ไขก็จะวนเวียนปัญหาเดิมๆ ไม่จบ ส่วนจะแก้ไขอย่างไรก็ต้องหันหน้ามาพูดคุยกันว่า มีจุดไหนจะแก้และเห็นพ้องร่วมกัน

 

แต่ไม่ว่าอย่างไรการบริการประชาชนจะต้องมีประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่ต้องมีความสุขด้วย ซึ่งการจะทำให้เจ้าหน้าที่มีความสุขมีหลายอย่าง ทั้งภาระงาน ค่าตอบแทน ระบบการจัดการความก้าวหน้าต่างๆ ซึ่งการจะทำให้ระบบสุขภาพยั่งยืนต้องมองภาพรวม

 

คงต้องจับตาว่า สุดท้าย ครม. จะมีมติอย่างไรต่อร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพฯ ฉบับนี้ แต่ดูท่าแล้วเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ เพราะกลุ่มเห็นต่างยังคงมีอยู่ ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ต่างก็ต้องการให้แก้ไขในประเด็นที่จะช่วยให้ทั้งโรงพยาบาล และประชาชน ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ต้องรอดูว่า สุดท้ายปี 2561 การปรับแก้ พ.ร.บ.บัตรทองจะสำเร็จลุล่วงในรัฐบาลนี้หรือไม่

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X