×

เลือกตั้ง 2566 : ‘เข็มทอง’ มองรัฐบาลแห่งชาติคือการล้มล้างการปกครอง ชี้จัดตั้งรัฐบาลไทยนานผิดปกติเมื่อเทียบกับชาติอื่น

01.06.2023
  • LOADING...
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

วานนี้ (31 พฤษภาคม) ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติที่เสนอโดย จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา และการจัดตั้งรัฐบาลที่ผิดปกติของประเทศไทย

 

ดร.เข็มทองกล่าวว่า แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติที่จเด็จอยากเสนอในชั้นกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์นั้น สามารถสรุปได้ 2 ประเด็นดังนี้

 

  1. แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติคือการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว เพราะเป็นการเสนอให้ไม่ยึดการเลือกตั้งซึ่งเป็นหัวใจของระบบประชาธิปไตยเป็นหลัก

 

  1. สมมติว่าต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา ประชาชนจะอยากยกเลิกอะไรมากกว่ากันระหว่าง ‘การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือ ส.ว.’

 

ฉะนั้นแม้ว่าจะเสนอแนวคิดดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าอยู่ในขอบเขตข้อกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ได้อยู่ในขอบเขตฯ เพียงแต่ว่าหากยังไม่ได้ลงมือทำก็ยังไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ถ้าลงมือทำก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น และมองอีกว่าเป็นแนวความคิดที่แย่ ซึ่งประชาชนกว่า 25 ล้านเสียงที่แสดงออกมาคงอยากให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา และ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ มากกว่ารัฐบาลแห่งชาติ

 

ส่วนกรณีการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทย ดร.เข็มทองระบุว่า เป็นสิ่งที่ผิดแปลก เนื่องจากระยะเวลาจัดตั้งนานกว่าปกติ ซึ่งใช้เวลา 75 วัน (เกิดจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรี) หรือ 2 เดือนกว่า ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติในรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่อยากให้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด

 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศตุรกี ซึ่งจัดการเลือกตั้งพร้อมกับประเทศไทย (14 พฤษภาคม) และเลือกตั้งไป 2 รอบ แต่กลับทราบผลการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานสัปดาห์หน้า หรือประเทศอังกฤษ ที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทันทีหลังผ่านการเลือกตั้งไป 3 วัน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ไม่จำเป็นต้องมีคณะทำงานเปลี่ยนผ่านเหมือนกับประเทศไทย

 

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่ต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลนาน ซึ่งปกติจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ก่อนเข้าสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนสิ้นสุด ก็รับทราบแล้วว่าใครเป็นรัฐบาล ส่วนช่วงการรอสาบานตนกว่า 2 เดือน คือช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านและส่งมอบงาน 

 

“ต่อให้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนาน 2 เดือน แต่ว่าเขา (สหรัฐฯ) รู้แล้วว่าใครเป็นรัฐบาล ส่วนประเทศไทยไม่มีทางรู้ได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาลจนกว่าจะไปโหวตกันในสภา โดยปกติเวลาจะคาดคะเนทิศทางก็จะใช้เหตุผลในการคาดคะเน แต่รัฐธรรมนูญไทยคาดคะเนอย่างไร้เหตุผล ซึ่งจริงๆ แล้วไทยไม่ควรผิดปกติขนาดนี้ (จัดตั้งรัฐบาล) ขนาดพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากสุด (พรรคก้าวไกล) แต่กลับต้องกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลอยู่เลย” ดร.เข็มทองขยายความ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising