×

‘ไม่มีสิ่งที่เราอยากเห็น’ วิโรจน์ ชี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ ครม. แค่ทาสีใหม่บนกะลาใบเก่า

โดย THE STANDARD TEAM
17.09.2021
  • LOADING...
Wiroj Lakkhanaadisorn

วันนี้ (17 กันยายน) ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า บทบาทของการศึกษาในโลกยุคใหม่ ต้องเป็นการเอาโจทย์ของโลกอนาคตมาใช้เตรียมคนในยุคปัจจุบัน เพื่อทำให้เด็กและประชาชนทุกคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีความพร้อมในการเรียนรู้ และมีอธิปไตยในการเรียนรู้เป็นของตนเอง สามารถแปรเปลี่ยนความแตกต่างหลากหลาย ให้กลายเป็นขีดความสามารถที่พร้อมแข่งขัน และร่วมมือกับใครก็ได้ในโลก สามารถวิ่งตามความฝันที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง และเต็มใจแบ่งปันความสำเร็จนั้นคืนสู่สังคม เพื่อให้คนในรุ่นต่อๆ ไปได้วิ่งตามความฝันของตัวเองได้เหมือนๆ กัน 

 

การศึกษาจึงไม่ใช่กระบวนการในการสร้างให้ใครมาเป็นแรงงานรับใช้ใครอีกต่อไป ปัจจุบันเขาเลิกที่จะถามเด็กๆ กันแล้วว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะมีอาชีพอะไรสูญสลายหายไปบ้าง และจะมีอาชีพอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง

 

“การศึกษาไม่ใช่การเอาโจทย์ของอดีตของคนที่เกิดก่อน มาบงการให้คนที่เกิดทีหลัง ว่าต้องเรียนอย่างนั้น โตขึ้นมาแล้วต้องเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นกระบวนการผลิตเป็นก้อนอิฐที่หายใจได้ ที่จะถูกเอาไปก่อเป็นกำแพงเพื่อทานกระแสโลก ซึ่งทานอย่างไรก็ทานไม่ได้” วิโรจน์กล่าว

 

ทั้งนี้ วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สังคมอยากเห็นในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือ การศึกษาที่เป็นระบบในการพัฒนาคน ทำให้เด็กๆ มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ไม่ควรมีระบบการคัดเลือกแบบแพ้คัดออก 

 

เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย เราอยากเห็นการกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนได้ตัดสินใจในการจัดการการศึกษาให้สอดรับกับบริบทพื้นที่  แต่ร่างฉบับนี้กลับรวมศูนย์อำนาจมาที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งพยายามที่จะเอากะลามาครอบประเทศนี้ให้ได้ 

 

เราอยากเห็นการศึกษาที่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับเด็กทุกๆ คน ไม่ว่าเขาจะมีความพร้อมหรือไม่ เราอยากเห็นการศึกษาที่เลิกโยนบาปไปที่พ่อแม่ และความไม่พร้อมของครอบครัวมาเป็นข้ออ้างเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำ แต่ควรเอามาเป็นโจทย์ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กทุกคน เราอยากเห็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็กทั้งในรั้วหรือนอกรั้วโรงเรียน เราอยากเห็นการศึกษาที่ทำให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีเวลาให้ แต่ พ.ร.บ.การศึกษามีความยืดหยุ่น สามารถลดการเรียน หรือลดการตะบี้ตะบันสอบ แล้วคืนเวลาให้กับเด็กได้จริงหรือไม่

 

เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของนักเรียน ไม่ใช่แค่หลักสูตร เราอยากเห็นการศึกษาที่มุ่งสร้างความปลอดภัย และสวัสดิภาพทางกาย และใจแก่เด็ก แก้ไข ป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก (Child Bullying) การใช้อำนาจนิยม กดขี่ คุกคาม ภายในโรงเรียน เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางเพศ  

 

เราอยากเห็นการศึกษาที่ลดงานธุรการ เพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน คืนครูให้กับศิษย์ มีระบบการพัฒนาครู ทั้งด้านทักษะและความเข้าใจที่รู้เท่าทันมุมมองของเด็กที่แตกต่างไปจากในยุคของตน เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความเข้าอกเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน

 

สิ่งที่เราอยากเห็นทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้เห็นอย่างชัดเจนเลยในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ถ้าการศึกษาคือยานพาหนะที่จะทำให้ประชาชนสามารถก้าวได้เร็วกว่าโลก หรืออย่างน้อยๆ ต้องก้าวได้เท่าทันโลก แต่การศึกษาแบบที่เป็นอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ กลับเป็นยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้อย่างเชื่องช้า เคลื่อนแล้วหยุดเป็นพักๆ ซ้ำร้ายบางทียังเคลื่อนทวนกระแสโลกอีกด้วย เป็นการเอาของหมดอายุล้าสมัยมาใส่กล่องใหม่ แล้วหลอกขายประชาชน เป็นความพยายามทำแอปฯ ให้สมาร์ทโฟนสามารถส่งโทรเลข และส่งนกพิราบสื่อสารได้ ลูบหน้าปะจมูก

 

“เราจะยอมรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นเพียงการเอาสีที่สดใสมาทาลงบนกะลาใบเก่าให้ดูใหม่ได้อย่างไร นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมไม่อาจยอมรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เสแสร้งแกล้งทันสมัยฉบับนี้ได้จริงๆ” วิโรจน์ระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising