×

ก้าวต่อไปของ NDID เมื่อ 6 ธนาคารไทยเปิดบัญชีออนไลน์ข้ามแบงก์ได้แล้ว

11.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ธปท. เปิดตัวแพลตฟอร์ม NDID และบริการ 6 ธนาคารที่เข้าร่วมทดสอบอย่างเป็นทางการ หลังเจรจากันมาหลายปี ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะทำให้ธนาคารเล็กเข้าถึงลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น และธนาคารใหญ่ต้องปรับตัวรักษาลูกค้าให้อยู่นานขึ้น 
  • NDID เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้เมื่อผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม (Consent) โดยจะไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ที่แพลตฟอร์ม ข้อดีคือ ประชาชนเปิดบัญชีกับธนาคารที่ไม่เคยระบุตัวตนผ่านออนไลน์ได้โดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคารแห่งใหม่นั้น (แต่ใช้ข้อมูลที่เคยมีกับธนาคารอื่นๆ ที่ระบุตัวตนไว้แทน)
  • 6 ธนาคารที่เปิดให้บริการใหม่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อคนไม่ต้องเดินเข้าสาขาธนาคารเพื่อทำธุรกรรมการเงิน หลายแบงก์หันไปทำธุรกรรมออนไลน์ โมบายล์แบงก์กิ้งมากขึ้น ทำให้หลายปีมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งมือทำแพลตฟอร์มส่วนกลางขึ้นมา จนเกิดเป็นเนชันแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) ที่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มใช้จริงแล้ว

 

ทาง ธปท. เปิดให้ 6 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มทดสอบการใช้ NDID เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม เบื้องต้นธนาคารจะนำมาใช้ในบริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัล แต่จะทำในวงจำกัดตามช่วงเวลาและช่องทางที่แต่ละธนาคารกำหนดภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. 

 

ทั้งนี้ NDID เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้เมื่อผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม (Consent) โดยจะไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ที่แพลตฟอร์ม แต่ข้อมูลจะถูกเก็บแบบกระจายศูนย์ภายใต้ธนาคารที่ให้บริการ อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

 

ดังนั้น ประชาชนสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งใหม่ (ธนาคารที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อน) ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น ผ่านโมบายล์แอปพลิเคชันที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) ผ่านเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ได้เลย แต่เจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม (Consent) ในการดึงข้อมูลจากธนาคารที่ตนเองเคยมีบัญชีเงินฝาก

 

 

อย่างธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยาเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยชู ‘บัญชีออมทรัพย์มีแต่ได้ ออนไลน์’ เปิดบัญชีไม่มียอดขั้นต่ำและดอกเบี้ยเป็นประจำทุกเดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ย 1.3% ต่อปี (จำกัดยอดเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาท ภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย)

 

ฟากธนาคารกรุงไทยเตรียมบริการเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์และยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล ผ่านระบบ Krungthai NEXT ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ 

 

ดังนั้น จะเห็นว่าการทดลองเปิดบริการของแต่ละธนาคารจะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ช่วงเวลาการให้บริการ ตามภาพประกอบ 

 

 

ในอนาคต NDID จะมีธนาคารพาณิชย์อื่นเข้าร่วมและทยอยเปิดให้บริการ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละธนาคาร และจะขยายไปที่บริการอื่นๆ นอกจากธนาคาร เช่น ประกันภัย การลงทุนในหลักทรัพย์ (เช่น หุ้น) เพื่อให้ประชาชนทำธุรกรรมง่ายขึ้น

 

ฝั่ง ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อดีของการเปิดบัญชีผ่านระบบ NDID จะสามารถลดระยะเวลาในการเปิดบัญชีได้ถึง 83% เมื่อเทียบกับการเปิดบัญชีที่สาขา 

 

“ระบบยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลจะช่วยให้ธนาคารสามารถต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินต่างๆ เพื่อลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจด้านกลยุทธ์การบริหารช่องทาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของทางธนาคารให้กับลูกค้าใหม่ (New Customer Onboarding) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จ โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)”

  

นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยยังเปิดบริการใหม่ในช่วงที่คนยังไม่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งหมด โดยทั้งสองธนาคารเพิ่มจุดบริการที่ประชาชนสามารถระบุตัวตนได้มากขึ้น 

 

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัวบริการใหม่ ‘ฉันเองคนนี้ที่เซเว่นฯ’ เป็นบริการยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้าน 7-Eleven โดยการใช้ Facial Recognition ซึ่งผ่านการทดสอบในระบบแซนด์บ็อกซ์ของ SCB เป็นที่เรียบร้อย (Own Sandbox) และพร้อมให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อนาคตพร้อมจะนำบริการนี้ไปทดสอบใน Sandbox ของ ธปท. และ NDID

 

โดยช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ปี 2562 มีปริมาณธุรกรรมในส่วนของการฝากถอนจำนวน 31,875 ล้านบาท แบ่งเป็นฝากจำนวน 31,776 ล้านบาท ถอนจำนวน 99.46 ล้านบาท เฉลี่ยปริมาณธุรกรรมฝากถอนต่อวันอยู่ที่ 185.3 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางที่สร้างการเข้าถึงลูกค้าใหม่และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

ฝั่งธนาคารกสิกรไทยขยายจุดให้บริการยืนยันตัวตน (K CHECK ID) สาขาธนาคาร ตู้ ATM และเตรียมเปิดให้บริการกับพันธมิตรที่มีสาขาทั่วประเทศ เช่น บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์, มินิบิ๊กซี และที่ทำการไปรษณีย์ไทย ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีจุดให้บริการยินยันตัวตนกว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ การระบุตัวตนจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนเสียบในบัตรผ่านอุปกรณ์ที่จุดให้บริการยืนยันตัวตน เพื่อตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชนแบบเรียลไทม์ เทียบกับการสแกนใบหน้าจากภาพถ่ายบนแอปพลิเคชัน K PLUS ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition และ Liveness Detection

 

ปัจจุบันมีลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 1.8 แสนบัญชี และตั้งเป้าหมายว่า สิ้นปี 2563 นี้จะมี 2.6 ล้านบัญชี และตั้งเป้าหมายมีฐานลูกค้า K PLUS รวมกว่า 14.6 ล้านราย

 

สุดท้ายแล้วเมื่อ NDID ออกมาจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการธนาคารใหม่ๆ ได้มากขึ้น เป็นทางเลือกให้ธนาคารกลางเล็กแข่งขันได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องแบกต้นทุนสาขา ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่อย่างกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ที่ต้องแบกทั้งต้นทุนสาขาและมีฐานลูกค้ามาก ก็ต้องขยายจุดให้บริการ และผลิตภัณฑ์ให้มากกว่า เพื่อรักษาลูกค้าให้ดีที่สุด 

 

ยิ่งอนาคต NDID จะใช้ได้กับการซื้อหุ้น กองทุน และประกันภัย ทุกบริษัทต้องแข่งขันกันสูงขึ้น เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ให้เร็วและมากขึ้น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกเข้าถึงบริการที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุดเช่นกัน  

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising