รายงานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) วันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ชี้ว่าระบบการเงินไทยยังมีความเปราะบางในบางจุดอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่พบว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ขณะที่คุณภาพสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังปรับเพิ่มขึ้นด้วย ธนาคารพาณิชย์จึงควรระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะขณะนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอาจกระทบกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้
อีกประเด็นคือภาวะที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาด โดยเฉพาะคอนโดบางทำเลและบางระดับราคายังขายออกช้า ซึ่งผู้ประกอบการต่างพากันระดมทุนผ่านสินเชื่อและตราสารหนี้เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อุปทานของคอนโดอาจเร่งตัวและเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้อุปทานของพื้นที่ออฟฟิศและพื้นที่ค้าปลีกก็อาจเร่งตัวขึ้นจากโครงการมิกซ์ยูสที่ผุดขึ้นมากมายในตอนนี้
แบงก์ชาติจึงกังวลและเตือนให้สถาบันการเงินติดตามความเสี่ยงและระวังเรื่องการปล่อยกู้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันเรื่องความเสี่ยงและการเอื้อในการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ จากข้อมูลของแบงก์ชาติพบว่า NPL ไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่ที่ 3.38% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 7 ปีนับจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 3.3%
นอกจากนี้ แบงก์ชาติมองว่าระบบการเงินของไทยยังต้องพบกับความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของต่างประเทศ การตอบโต้กันผ่านนโยบายทางการค้าที่เป็นประเด็นร้อนในตอนนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังกระจายตัวไม่เต็มที่นัก จึงต้องติดตามความเสี่ยงทั้งจากเรื่องผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวรุนแรงต่อการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) และต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นพึ่งพาการออกตราสารหนี้สูง ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก หนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงภาวะบ้าน-คอนโดค้างสต็อกด้วย
อ้างอิง: