วันนี้ (13 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านมา 1 ปี บอกว่าจะยกระดับประชาชนตามที่รับปากไว้ ที่ผลสุดท้ายสิ่งเดียวที่ยกระดับได้คือยกระดับผ้าขาวม้าที่ผูกเอวมาผูกคอ แต่อย่างอื่นทำไม่ได้เลย
ณัฐชากล่าวต่อไปว่า ทำให้วันนี้พี่น้องประชาชนตั้งคำถามว่า แล้วก้าวแรกของ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหนกับพี่น้องประชาชน เมื่อหาเสียงนายกฯ บอกว่า อยากให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมๆ กัน จากคำพูดหาเสียงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเทคนิคการหาเสียง มาสู่คำแถลงนโยบายที่มีคำพูดเหล่านี้เช่นกัน แต่จะกลายเป็นเทคนิคเอาตัวรอดในสภาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในรายละเอียดเชิงลึกว่าทำอย่างไรบ้าง พบว่าวัยเด็กมีเงินอุดหนุน 600 บาทแบบถ้วนหน้า ก็ยังคงไม่ถ้วนหน้า มีการคัดกรองและพิสูจน์ความจนและพิสูจน์รายได้ 100,000 บาท เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้บรรจุเรื่องเหล่านี้เลย งบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาไปก็ไม่มี เป็นเพียงแค่เทคนิคการหาเสียงและเอาตัวรอดเท่านั้น
“ถ้ารัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงปรับเพิ่มให้เงินอุดหนุนเด็ก 1,000 บาท และยกเลิกเงื่อนไขครอบครัวรายได้ 100,000 บาท ผมจะไม่ว่าเลย แต่นี่ไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพิ่มเติมคือประชาสัมพันธ์เท่านั้น หากรัฐบาลจะมีความจริงใจกับประชาชนจะทำให้เกิดความถ้วนหน้าจริงๆ ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน ต้องใช้เงินเยอะขนาดนั้นเลยหรือ จะทำให้เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจเหมือนเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะลงทุนเป็นหลายแสนล้านบาทหรือ ซึ่งไม่ใช่ เพราะใช้เงินอีกเพียง 6,679 ล้านบาท ก็จะสามารถให้เงินเด็กทุกคนโดยไม่ต้องพิสูจน์ใดๆ เกิดปุ๊บรับปั๊บได้ทันที ส่วนใครจะไม่เอาก็เรื่องของเขา”
ณัฐชากล่าวต่อว่า วันนี้เราได้เห็นคำแถลงนโยบายของนายกฯ ได้ถูกขนานนามว่าเป็นรัฐบาลครอบครัว แต่ส่วนตัวเห็นว่าคำนี้ไม่เสียหาย หากท่านดูแลทุกครัวเรือนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยในนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาเทียบกับนโยบายของรัฐบาลนี้มีคำที่เหมือนและแตกต่างกัน อยู่ที่ว่ามีความเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ และรู้ว่ากำลังอยู่ในปัญหาอัตราการเกิดต่ำ
“ทั้งสองรัฐบาลเขียนเหมือนๆ กัน แต่ลงท้ายไม่เหมือนกัน เนื่องจากในรัฐบาลเศรษฐาบอกว่า ให้ความสำคัญเท่าเทียมแก่คนทุกกลุ่ม ดูแลด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ซึ่งในรัฐบาลของแพทองธารใช้คำว่า จะจัดสรรสวัสดิการให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐโดยสะดวก ผมสงสัยว่า ตรงนี้ใครสะดวก ให้ประชาชนสะดวก หรือรัฐสะดวกที่จะดูแลพี่น้องประชาชน” ณัฐชากล่าว
หวั่นงบประมาณไม่เพียงพอกับจำนวนผู้สูงอายุ
ต่อมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า ในเรื่องของเด็ก เห็นด้วยที่จะให้เบี้ยดูแลเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี จำนวน 600 บาท และทุกปีมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับ มีตกหล่นยังได้ไม่ทั่วถึง และต้นทุนในการที่จะไปสำรวจคัดกรองบางครั้งก็ใช้เงินพอๆ กับการที่จะเอาเงินจำนวนนี้ไปให้เด็กทุกคนถ้วนหน้าประมาณ 3.2 แสนกว่าราย ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมากระทรวง พม. มีการส่งเรื่องเสนอไปยัง ครม. จะขอให้ 600 บาท จากไม่ถ้วนหน้ากลายเป็นถ้วนหน้า
นอกจากนั้นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตอนนี้อยากได้เงินกันคนละ 1,000 บาททุกคน ซึ่งในการประชุม ครม. ครั้งที่ผ่านมา เราเห็นด้วย แต่ตัวเลขในการที่ให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท หากให้เป็นขั้นบันได ในปี 2568 จะต้องใช้เงินประมาณ 95,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2567 เราใช้เงินอยู่ที่ 84,000 ล้านบาท ถ้าหากจะเปลี่ยนจากขั้นบันได 600-1,000 บาท ไปเป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 13.5 ล้านคน ได้เบี้ยอยู่ประมาณ 10.5 ล้านคน แต่จะปรับเปลี่ยนจากขั้นบันไดให้เป็น 1,000 บาทและเป็นถ้วนหน้านั้น แค่ปี 2568 เราจะต้องใช้เงินงบประมาณ 167,000 ล้านบาท
“ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ภายใน 5 ปี คือปี 2573 เราต้องใช้เงินเกือบ 200,000 ล้านบาท ดังนั้นประเด็นนี้ผมเชื่อว่าหลายหน่วยงานจะต้องหารือกันว่า เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายในจำนวนนี้หรือไม่ เพราะคงทราบดีว่าสังคมไทยจากนี้ไป ปริมาณของผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเหมือนอย่างสึนามิ” วราวุธกล่าว
วราวุธยังยืนยันว่า เรื่องเด็กและผู้สูงอายุ ทางกระทรวง พม. ได้ส่งเรื่องเข้า ครม. แล้ว แต่บังเอิญเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลจึงโดนตีกลับมา ขณะนี้เรากำลังส่งเรื่องกลับเข้าไปใน ครม. อีกครั้ง