×

‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ บนถนนการเมืองที่ชื่อ ‘พลังประชารัฐ’ ไม่กลัวแลนด์สไลด์​ ตั้งเป้า 150 ที่นั่ง

29.08.2022
  • LOADING...
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ขยับจากเส้นทางนักวิชาการ อาจารย์สอนหนังสือที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สู่เส้นทางการเมือง ถือเป็นนักการเมืองหญิงของพรรคพลังประชารัฐที่มีความโดดเด่นและเติบโตเร็วที่สุด ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสำคัญเป็น ‘เหรัญญิกพรรค’ ทำหน้าที่ดูแลกระเป๋าเงินของพรรค

 

แม้ปัจจุบัน ศ.ดร.นฤมล ที่เหลือแค่ตำแหน่งทางการเมืองในพรรค แต่ยังคงมีความเหนียวแน่นต่อพรรค และยังทรงอิทธิพลในโครงสร้างอำนาจหลัก เพราะสามารถขึ้นตรงกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค

 

THE STANDARD สนทนากับ ศ.ดร.นฤมล ทั้งในฐานะแกนนำพรรคและหัวหน้าทีมนโยบาย ตลอดจนชีวิตบนเส้นทางการเมืองในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงก้าวต่อไปของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2566

พรรคพลังประชารัฐ

 

ชีวิต ‘นฤมล’ สู่เส้นทางการเมือง

 

ศ.ดร.นฤมล แทนตัวเองว่า ‘อาจารย์’ เล่าย้อนชีวิตหลังลาออกจากข้าราชการประจำ มีตำแหน่งทางวิชาการถึงศาตราจารย์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองปีแรกในปี 2560 เข้ามาช่วยงาน พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านประกันสังคม เนื่องจากทำงานวิจัยด้านประกันสังคมมากก่อน

 

ก่อนที่จะโยกไปช่วยงาน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง รับผิดชอบงานด้านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สินทรัพย์ดิจิทัล 

 

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำงานร่วมกันกับทางราชการของกระทรวงการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เราไปลงพื้นที่กันทุกเดือน เพื่อที่จะไปรับทราบประเด็นปัญหา เราต้องทำอย่างไรให้สวัสดิการเข้าถึงประชาชนได้อย่างเรียกว่าถูกฝาถูกตัว ไม่ใช่ One Size Fits All”

 

ต่อมาปี 2561 เข้ามามีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เริ่มทำงานการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในช่วงแรกได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ ให้ดูแลงานวิชาการของพรรค ช่วยพัฒนาข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำนโยบาย ทั้งนโยบายด้านสวัสดิการ เศรษฐกิจ และสังคม 

 

ศ.ดร.นฤมลเล่าว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ‘ทุ่มเทและทำทุกอย่าง’ ตั้งแต่ป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ที่ร่วมด้วยช่วยกันคิด จะวางรูปอย่างไร สโลแกนพรรคจะขึ้นตรงไหน หรือแม้แต่การคัดคำลงป้ายต่างๆ 

 

ทำให้ผู้ใหญ่ในพรรคเห็นถึงความทุ่มเท จึงได้รับความเมตตา และด้วยความที่มีตำแหน่งนักวิชาการที่เป็นศาสตราจารย์ เห็นว่าควรจะเป็นบุคคลที่ควรจะอยู่ในบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 5

 

หลังจากการเลือกตั้งเป็น ส.ส. อยู่ประมาณ 2 เดือนเศษ ทางพรรคเห็นศักยภาพให้เป็นโฆษกรัฐบาล จึงออกจากการเป็น ส.ส. เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้กำหนดข้อห้ามไว้ว่า ข้าราชการการเมืองจะเป็น ส.ส. ไม่ได้ เว้นแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี

 

เมื่อทำงานครบ 1 ปี มีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็ได้ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้วยอายุงาน 1 ปี 1 เดือน (5 สิงหาคม 2563 – 9 กันยายน 2564) ก่อนจะถูกนายกรัฐมนตรีปลดฟ้าผ่าพร้อมกับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคในเวลานั้น จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

พรรคพลังประชารัฐ

 

วินาทีถูกปลดพ้นรัฐบาล

 

ระยะเวลาหลังผ่านมาเกือบ 1 ปี หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ศ.ดร.นฤมลเล่าย้อนเหตุการณ์ในวันนั้น พร้อมยอมรับว่า ‘ตกใจ’ และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ส่วนเหตุผลที่ปฏิเสธการออกสื่อ งดให้สัมภาษณ์ เก็บตัวเงียบในห้วงเวลานั้น ศ.ดร.นฤมลระบุว่า กลัวกระทบผู้ใหญ่ที่เคารพทั้งหมด และให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราทำอะไรกันแน่ และความเข้าใจผิดที่หลายคนทำให้เกิดขึ้น เวลามันจะค่อยๆ เปิดเผยออกมา สิ่งที่มีการพูดกัน ใส่ร้ายกัน มันไม่มีความจริง และยืนหยัดทำงานให้พรรคอยู่ ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ที่สุดของชีวิต นอกจากปัญหาทางการเมืองแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาของคุณแม่ที่ป่วยอย่างหนักด้วย

 

“มันเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นแล้ว เราจะก้าวต่อไปอย่างไร จะตัดสินใจว่าอยากจะทำงานการเมืองอยู่ไหม ยังจะทำให้พรรคพลังประชารัฐอยู่ไหม ถ้าคำตอบยังใช่ เราก็เดินหน้าทำต่อไป ส่วนเรื่องข้างหลังที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว”

 

ขณะที่ความรู้สึกต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น มีแต่ความรู้สึก “น่าจะได้มีโอกาสอธิบายสักวันหนึ่งว่าสิ่งที่ท่านฟังมามันไม่ใช่ แล้วก็อย่างที่บอกพอเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ เห็นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น” หลังจากนั้นมีโอกาสได้พบกัน ได้พูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจผิดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ศ.ดร.นฤมลย้ำความสัมพันธ์กับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังออกมาก่อตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ยังปกติดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยกับท่านหัวหน้าพรรค (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ยังให้ความเคารพกันอยู่ แต่อาจจะต้องสื่อสารกันให้มากขึ้น การที่ไม่ได้อยู่ในพรรคเดียวกัน ในบางครั้งมีเรื่องที่ไม่ได้คุยกัน อาจเกิดความเข้าใจผิดกันไปบ้าง 

 

รับผิดชอบถุงเงิน แต่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

 

แม้สายตาจากคนภายนอกที่มองเข้าไปในพรรคประชารัฐ จะมองว่า ศ.ดร.นฤมลเป็นคนอินไซต์อยู่ข้างกาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ไม่ว่าเรื่องใดจะมอบหมายให้ผ่านคนชื่อ ‘นฤมล’ เสมอ เธอกล่าวปฏิเสธว่า มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของบัญชีการเงินพรรคเท่านั้น ไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่อง รู้เฉพาะในส่วนที่เรารับผิดชอบเท่านั้น

 

บ้านใหญ่พลังประชารัฐ ขัดแย้งแค่ไหน

 

คำถามที่ว่าพรรคพลังประชารัฐต้องเจอทั้งศึกนอก ศึกใน ปัญหาก๊กก๊วน แท้ที่จริง แล้วพรรคมีปัญหาอยู่ในระดับไหน ศ.ดร.นฤมลบอกว่า ทุกพรรคการเมืองมีกลุ่มหมด ไม่ใช่เฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นจากการหลอมรวมหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน 

 

เมื่อปี 2562 สโลแกนของพรรคคือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง อยู่รวมตรงนี้กันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือย้ายมาจากฝ่ายใด เราก็อยู่ด้วยกัน เลยอาจจะเป็นภาพที่ปรากฏในสายตาของสื่อมวลชนและประชาชนว่าอยู่กันได้อย่างไร อยู่หลายฝ่ายเหลือเกิน แต่ก็อยู่กันมาได้ 

 

ส่วนมีปัญหาความขัดแย้งนั้น ศ.ดร.นฤมลมองเป็นเรื่องธรรมดา-ปกติ ที่บ้านหลังใหญ่ ต้องมีประเด็นถกเถียงขัดแย้งกันบ้าง

 

สูตรเลือกตั้ง หาร 100 ประชาชนต้องอยู่ในสมการ ไม่กลัวแลนด์สไลด์

 

เมื่อถามถึงความได้เปรียบ เสียเปรียบ ถึงสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งหน้าแบบหารด้วย 100 ศ.ดร.นฤมลกล่าวสนับสนุนสูตร 100 พร้อมให้เหตุผลประกอบว่า เป็นของเรื่องหลักการ คือเป็นคณิตศาสตร์ และเป็นประเด็นทางกฎหมาย 

 

“เวลาเราจะคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญแก้เพื่ออะไร มันต้องแก้เพื่อประเทศและประชาชน ไม่ใช่จะแก้เพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง เมื่อเราตัดสินใจร่วมกันไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง”

 

ทุกๆ ร่างที่เอาเข้าไปเสนอผ่านวาระ 1 เห็นชอบให้แก้บัตร 1 ใบ เป็นใบ 2 ใบ เพราะมีการหารือกันแล้วว่า จะได้เปิดทางเลือกให้ประชาชน ดีสำหรับประชาชน ที่จะเลือกผู้สมัคร ใบหนึ่งเลือกพรรค อีกใบหนึ่งเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ 

 

เมื่อเห็นตรงกันแล้วว่าเป็นบัตร 2 ใบ ปรากฏว่าทั้ง 4 ร่างก็เห็นตรงกันหมด ว่าบัตรใบที่ 2 ที่จะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในเมื่อมีอยู่ 100 คน หลังจากเปลี่ยนจาก 350 เขต กับ 150 คน เป็น 400 เขต และ 100 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คนก็ควรจะหารด้วย 100 ทุกร่าง 

 

เสียงส่วนใหญ่ก็บอกว่าหาร 100 ทางพรรคเองและส่วนตัวเองก็ยึดอยู่กับหลักการตรงนี้ เพราะการนำไปสู่การเปลี่ยนไปอยู่สูตรหาร 500 นั้น หลายคนก็เอามาพูดแล้วว่ามันมีประเด็นปัญหาที่จะเกิดตามมามากมาย

 

  • ประเด็นที่ 1 การเกิด Over Hank เราจะแก้อย่างไร
  • ประเด็นที่ 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรานั้น มาตรานี้ จะทำอย่างไร

 

กลุ่มเสียงส่วนใหญ่ทั้งหมดต่างบอกว่าหาร 100 เวลาอภิปรายในการประชุมสภา ตอนที่โต้กันว่าจะเอาหาร 100 หรือหาร 500 ไม่ได้โต้ว่าพรรคนี้จะได้เปรียบ พรรคนั้นจะเสียเปรียบ ต้องกำจัดพรรคนั้น กลัวพรรคนี้แลนด์สไลด์ แต่ทุกคนพูดถึงหลักการ เมื่อต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อเราฟังแล้วด้วยเหตุและผลจึงเห็นด้วยว่าต้องหารด้วย 100 จะได้ไม่เกิดปัญหา และตรงไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ของกฎหมาย

 

ตั้งรับการแลนด์สไลด์เพื่อไทยอย่างไร 

 

ศ.ดร.นฤมลระบุว่าถึงการใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อในเลือกตั้งครั้งหน้า แบบหารด้วย 100 จะส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ (การชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย) ว่า ‘เป็นความเข้าใจผิด’

 

ย้อนกลับไปปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้แลนด์สไลด์ หรือว่าได้แค่ 137 ที่นั่ง เป็นเพราะอะไร เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งครบทั้ง 350 เขต เพราะแยกไปอีก 1 พรรค (พรรคไทยรักษาชาติ) ต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จึงทำให้คะแนนออกมาและได้เท่านั้น จึงทำให้ ส.ส. เขตมากเกินไปกว่า ส.ส. พึงมี 

 

ถ้าเราเอาข้อเท็จจริงย้อนสถิติของการเลือกตั้งปี 2554 ได้ประมาณ 15 ล้านเสียง พอมาถึงปี 2562 เหลือแค่ 7.9 ล้าน เพราะว่าถูกยุบไป 1 พรรค แล้วคะแนนไหลไปยังพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นถ้าเอาคะแนนมาบวกตัวเลขกันจริงๆ ก็จะเห็นว่ารวมกันแล้วก็ 15 ล้านเป็นเหมือนเดิม

 

“ถ้าเอาตัวเลขจริงๆ ว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่เขาไม่เปลี่ยนข้าง ถ้าเราย้อนกลับไปดูกี่ปี กี่ยุค ประชาชนชอบฝ่ายไหนก็อยู่ฝ่ายนั้นประมาณครึ่งๆ”

 

ศ.ดร.นฤมลยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐได้มีการพูดคุยกันแล้ว พร้อมที่จะสู้ทุกกติกา ไม่ได้สู้ให้ได้สูตรหาร 100 หรือหาร 500 เพราะต้องการให้ประชาชนอยู่ในสมการความคิดด้วยว่าจะแก้แบบไหน ไม่ใช่คิดเพียงแค่ว่าจะกันไม่ให้พรรคใดแลนด์สไลด์ แล้วแก้กติกาจนมันขัดกับหลักการ ขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 

 

เลือกตั้งสมัยหน้า พลังประชารัฐตั้งเป้า ส.ส. 150 ที่นั่ง

 

ศ.ดร.นฤมลกล่าวถึงการตั้งเป้าคว้าอี้ ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ผู้บริหารพรรคอยากจะขยายให้ได้ 150 ที่นั่ง จากเดิมเมื่อปี 2562 พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้อยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมกัน 36 ที่นั่ง อยากขยายตรงนั้นให้ได้เพิ่ม ขณะที่ภาคอีสานที่ได้น้อย และภาคใต้ที่ได้มา 13 ที่นั่ง ก็อยากได้เพิ่มจาก 119 เป็น 150 ที่นั่ง 

 

“เราต้องตั้งเป้าสิ่งที่เราอยากจะได้ เพื่อทำแผนไปสู่เป้าที่อยากได้ จะได้-ไม่ได้ ค่อยปรับแผนกันไประหว่างทาง”

พรรคพลังประชารัฐ

 

ตำแหน่งทางการเมือง เป็นอะไรก็ได้ที่ผู้ใหญ่มอบให้

 

หากเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐได้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ศ.ดร.นฤมลกล่าวถึงตำแหน่งทางการเมืองของตนเองว่า เป็นอะไรก็ได้ที่ผู้ใหญ่มอบให้ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องมีตำแหน่ง จะมีหรือไม่มีตำแหน่งก็ได้ ส่วนตัวเพียงต้องการทำให้พรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จได้มากที่สุด แค่ได้ใช้อุดมการณ์ที่ยอมทิ้งทุกอย่างมา ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ได้มีส่วนช่วยให้พี่น้องประชาชนพ้นจากกับดักความยากจน ไม่ได้จะต้องสะสมตำแหน่งให้ได้เท่านั้นเท่านี้

 

“เราเคยจนมาก่อน เรารู้ว่ามันลำบาก แล้วมันมีไม่กี่คนที่จะสามารถพ้นจากความยากจนได้”

 

เมื่อถามคำถามที่ว่า นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะกลับเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในช่วง 7 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่ นฤมลไม่ได้ตอบคำถามนี้ พร้อมยิ้ม โดยไม่ได้กล่าวอะไร และจบการสนทนากับ THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X