วันที่ (7 กรกฎาคม) นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครบรอบ 22 ปี โดยมี ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ และเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ร่วมพิธี พร้อมด้วย สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ สพฐ. ข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม ผ่านระบบ Zoom Meeting และ OBEC Channel ณ ลานจอดรถอาคารสามัญ 99 กระทรวงศึกษาธิการ
นฤมล กล่าวถึงบทบาทของ สพฐ. ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นภารกิจสำคัญในการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ครบถ้วนทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา คุณธรรม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยระบุว่า การศึกษาต้องเผชิญความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้มแข็ง พร้อมผลักดันการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน เพราะ “การศึกษา คือกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ”
“ดิฉันคือผลผลิตจาก สพฐ. เคยเรียนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มาก่อน เมื่อมีคนพูดถึงว่าการศึกษาไทยสู้ใครไม่ได้ ดิฉันไม่เชื่อ เพราะพิสูจน์ได้จากการเรียนของตัวเอง ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศ และคว้าทุนไปเรียนต่อต่างประเทศได้ ด้วยคะแนนที่สูงกว่านักเรียนนานาชาติ จึงขอยืนยันว่า ‘การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก’” นฤมล กล่าว
พร้อมกันนี้ นฤมล ได้ย้ำ 4 ประเด็นสำคัญที่กระทรวงฯ จะผลักดันร่วมกับ สพฐ. ได้แก่
- ลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูมากกว่า 500,000 คนทั่วประเทศมีเวลาทุ่มเทให้กับการสอนและพัฒนานักเรียนมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มสวัสดิการครูและบุคลากร เพื่อให้ครูมีความมั่นคง ไม่ต้องกังวลกับภาระนอกห้องเรียน
- ผลักดันการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่พลเมือง เพื่อให้เด็กไทยเข้าใจรากเหง้าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- พัฒนาวิทยาศาสตร์ และปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่แต่ละแห่ง
นฤมล ยังกล่าวชื่นชมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและอดีตรัฐมนตรีทุกคน พร้อมประกาศเดินหน้านโยบายที่ดีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องการทำงานแบบ Top-Down แต่จะยึดแนวทาง ‘ร่วมคิด ร่วมทำ’ โดยรับฟังความคิดเห็นจากครู ผู้บริหาร คณะกรรมาธิการการศึกษา และ สส. เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
“การทำงานของเราต้องเป็นแบบครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็พูดคุย ปรึกษา เข้าอกเข้าใจกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศ” นฤมลกล่าวทิ้งท้าย