วันนี้ (25 ธันวาคม) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ใหม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ณรงค์ รัสมี ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยระบุว่า มีผู้ร้องว่าพบเห็นน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกระบุข้อความ ‘สส. ศิริพงษ์ รัสมี, ณรงค์ รัสมี และเพื่อน’ วางอยู่บริเวณศาลาสำนักงานกลาง เพื่อเตรียมแจกให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานยกช่อฟ้าอุโบสถ ระหว่างไปร่วมงานยกช่อฟ้าอุโบสถที่วัดหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 นั้น
จากที่พยานให้ถ้อยคำและการรวบรวมพยานหลักฐานเห็นว่า พฤติการณ์ที่ ประภาส วัฒนผ่องใส ผู้ถูกร้องที่ 11 สั่งซื้อน้ำดื่มจำนวนมากจากศิริพงษ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งที่ศิริพงษ์ไม่ได้สั่งให้ผลิตน้ำดื่มเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอก และต่อมามีชาย 2 คนสวมเสื้อยืดมีสัญลักษณ์ SNS ซึ่งเป็นชื่อย่อของบริษัท เอส.เอ็น.เอส. การขนส่ง จำกัด และขับรถยนต์ของบริษัท เอส.เอ็น.เอส. การขนส่ง จำกัด มาส่งน้ำดื่มชนิดบรรจุขวดพลาสติกที่ระบุข้อความดังกล่าว เพื่อมอบให้วัดหนองจอกนำไปใช้ในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ
โดยอนุมานได้ว่าจะมีการแจกน้ำดื่มดังกล่าวให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่ณรงค์และจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ณรงค์
นอกจากนี้ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ณรงค์, ศิริพงษ์ และ สนั่น รัสมี ผู้ถูกร้องที่ 3 สั่งผลิตน้ำดื่มแบบบรรจุถ้วยพลาสติกและแบบบรรจุขวดพลาสติกระบุข้อความดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน โดยว่าจ้างร้านพัชรีวอเทอร์เป็นผู้ผลิต และให้จัดเก็บไว้ที่บริษัท เอส.เอ็น.เอส. การขนส่ง จำกัด ซึ่งเจ้าของร้านพัชรีวอเทอร์ให้ถ้อยคำว่า ในการผลิตน้ำดื่มชนิดบรรจุขวดพลาสติกปริมาณ 350 ลูกบาศก์เซนติเมตร ระบุข้อความดังกล่าวเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ประภาสและเสมียนของบริษัท เอส.เอ็น.เอส. การขนส่ง จำกัด ว่าจ้างให้ผลิตจำนวน 600 แพ็ก หรือ 7,200 ขวด โดยให้จัดส่งไปที่บ้านของประภาสและให้เก็บเงินปลายทาง
ซึ่งขัดแย้งกับศิริพงษ์ที่ให้ถ้อยคำว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2564 ประภาสได้ขอรับการสนับสนุนน้ำดื่มบรรจุขวดดังกล่าวจำนวน 100 โหล จากตน ศิริพงษ์จึงสั่งให้ผลิตน้ำดื่มและจัดส่งให้แก่ประภาส โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานจากการไต่สวนว่าพยานที่ให้ถ้อยคำมีสาเหตุโกรธเคืองกับณรงค์และผู้ถูกร้องทั้งหมด จึงน่าเชื่อว่าน้ำดื่มดังกล่าวผลิตในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ก. และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบกับน้ำดื่มดังกล่าวระบุชื่อของณรงค์บนขวดด้วย
ดังนั้นกรณีนี้จึงปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ประภาสนำน้ำดื่มบรรจุขวดดังกล่าวไปมอบให้แก่วัดหนองจอก เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ณรงค์ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 (2) ซึ่งณรงค์ย่อมได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งจากการกระทำดังกล่าวของประภาส เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง ส.ก. เขตหนองจอกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับณรงค์ เกิดจากการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิก ส.ก. เขตหนองจอก ใหม่ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น มาตรา 108 วรรคสอง และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ประภาสตามมาตรา 65 (2) ประกอบมาตรา 126 วรรคสอง ของกฎหมายเดียวกัน