×

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ระบุ ช่วงเช้ามืด 25 ก.ค. เตรียมชมปรากฏการณ์ ‘ดวงจันทร์บังดาวเสาร์’ ครั้งแรกของปี 2567

โดย THE STANDARD TEAM
24.07.2024
  • LOADING...
ดวงจันทร์บังดาวเสาร์

วันนี้ (24 กรกฎาคม) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความถึงปรากฏการณ์ ‘ดวงจันทร์บังดาวเสาร์’ ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงเช้ามืดวันพรุ่งนี้ (25 กรกฎาคม) เวลาประมาณ 03.09-04.27 น. (ตามเวลากรุงเทพฯ)

 

โดยระบุว่า หากมองจากโลก ดาวเสาร์จะค่อยๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และกลับมาปรากฏอีกครั้ง หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 02.30 น. เป็นต้นไป

 

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ช่วงก่อนรุ่งเช้าวันที่ 25 กรกฎาคม จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ (Lunar Occultation of Saturn) ขณะเริ่มเกิดปรากฏการณ์วัตถุทั้งสองจะปรากฏบริเวณกลางท้องฟ้า โดยดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กับส่วนสว่างของดวงจันทร์

 

ดาวเสาร์จะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่าง และค่อยๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ เวลาประมาณ 03.09 น. และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในฝั่งพื้นผิวส่วนมืด เวลาประมาณ 04.27 น. (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพฯ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทุกจังหวัดทั่วไทย

 

ทั้งนี้ หากมองด้วยตาเปล่าจะสังเกตเป็นจุดดาวเล็กๆ เคลื่อนหายไปหลังดวงจันทร์ แต่หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตรายละเอียดดาวเสาร์พร้อมวงแหวนค่อยๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน

 

ศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา เช่น ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น เราสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์

 

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ในปีนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ในช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 02.19-03.00 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)

 

อ้างอิง:

  • NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X