×

อดีตขุนคลัง ญี่ปุ่น ออกโรงเตือนรัฐบาลว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินอาจสูญเปล่า หากยังไม่ปรับทิศนโยบายการเงิน

25.10.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

นาโอยูกิ ชิโนฮาระ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง ญี่ปุ่น ซึ่งเคยทำหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ออกมาแสดงความเห็นว่า ตราบใดที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังยืนกรานจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะไม่สามารถช่วยให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าได้ ซ้ำร้ายยังจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก

 

“การเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินของรัฐบาลมีความจำเป็นเมื่อดูจากผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนที่มีต่อเงินเฟ้อ แต่ถ้านโยบายการเงินและการคลังไม่ทำงานสอดประสานกัน การเข้าแทรกแซงก็จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัย” ชิโนฮาระกล่าว

 

เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ไปแล้วราว 23% นับจากต้นปีที่ผ่านมา และถือเป็นสกุลเงินหลักของโลกที่อ่อนค่าลงมากที่สุด อย่างไรก็ดี BOJ ก็ยังคงยึดมั่นที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสวนทางกับการขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อไป ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยของทั้งสองประเทศที่ถ่างกว้างออกจากกัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

 

ชิโนฮาระกล่าวอีกว่า เขาคาดว่า BOJ ภายใต้การนำของผู้ว่าการ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ จะไม่เปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อนโยบายการเงิน และจะเดินหน้ารักษาดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในตลาด

 

“การแทรกแซงค่าเงินควรเป็นทางเลือกสุดท้าย มันไม่ควรถูกใช้มากเกินไป และการเข้าแทรกแซงโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้าจะสร้างความสับสนให้กับตลาดและผู้เล่นในตลาด” ชิโนฮาระกล่าว

 

นับจากต้นเดือนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวในตลาดเงินมีสัญญาณบ่งชี้ว่าทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนหลายครั้ง โดยตลาดคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นได้ใช้เม็ดเงินไปแล้วมากถึง 5.5 ล้านล้านเยน หรือราว 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการแทรกแซงค่าเงิน แม้ว่าทางการจะยังปฏิเสธที่จะยืนยันข้อเท็จจริงนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising