×

หน้ากากทั้ง 7 ที่ นาโอมิ โอซากะ สวมใส่ก่อนพิชิตแชมป์ยูเอสโอเพ่น สมัยที่ 2

15.09.2020
  • LOADING...

แม้จะเคยยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้อายอย่างยิ่ง และขาดความทะเยอทะยานที่บางครั้งจำเป็นสำหรับการเป็นนักเทนนิสในระดับหัวแถวของโลก แต่ดูเหมือนในขวบปีที่ผ่านมา นาโอมิ โอซากะ ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก

 

นอกเหนือจากความมั่นใจที่มากขึ้นตามวัยและการเรียนรู้ของชีวิตแล้ว สาวขี้อายคนนี้ยังกลายเป็นคนที่พร้อมจะส่งเสียงของเธอเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมบนโลกใบนี้ด้วย

 

เรื่องราวความเจ็บปวดของเหล่าคนผิวดำที่กลายเป็นกระแสสังคมที่ร้อนแรงตลอดปีที่ผ่านมา ช่วยจุดไฟในตัวของนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นที่เลือดครึ่งหนึ่งในกายเธอเป็นสายเลือดของชาวเฮติที่สืบทอดจากพ่อ และทำให้โอซากะในวัย 22 ปีเป็นหนึ่งในนักกีฬาระดับแถวหน้าของโลกที่แสดงจุดยืนชัดเจนในการต่อสู้เพื่อให้โลกได้รู้ว่าทุกชีวิตล้วนมีค่า โดยเฉพาะชีวิตของชนผิวดำที่ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา

 

ลำพังการพูดนอกสนามแข่งก็ทรงพลังมากแล้ว แต่โอซากะเลือกที่จะแสดงพลังอย่างต่อเนื่องในสนามแข่งด้วย 

 

โดยในรายการเทนนิสยูเอสโอเพ่น 2020 ซึ่งเพิ่งจบลงไป และเธอได้แชมป์รายการนี้มาครองอีกครั้งหลังเอาชนะ วิคตอเรีย อซาเรนกา ในรอบชิงชนะเลิศสุดระทึกนั้น ในการแข่งขันเกมทุกรอบสิ่งที่ผู้คนจับจ้องคือหน้ากากอนามัยสีดำของเธอที่กลายเป็นสิ่งสะดุดตาก่อนจะนำพาไปสู่เรื่องสะเทือนใจ

 

ที่หน้ากากนั้นไม่ได้มีรูปหรือโลโก้ใดๆ หากแต่เป็นหน้ากากที่มีการสกรีนชื่อลงไปง่ายๆ

 

ทุกอย่างเริ่มจากหน้ากากชิ้นแรกที่มีชื่อของ Breonna Taylor 

 

“ฉันรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่ทุกคนควรจะเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ได้แล้ว” โอซากะกล่าวในการลงแข่งรอบแรกของเธอกับ มิซากิ โดอิ นักเทนนิสคู่แข่งคนบ้านเดียวกัน

 

และนี่คือหน้ากากทั้ง 7 ชิ้นกับเรื่องราวของ 7 คนที่จากไปด้วยความไม่ยุติธรรม

 

 

บรีออนนา เทย์เลอร์ (Breonna Taylor)

ชื่อของ บรีออนนา เทย์เลอร์ เป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกนำมาใช้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่คนผิวสีมากที่สุด โดยพยาบาลคนนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบของเมืองหลุยส์วิลล์ยิงจนเสียชีวิตในบ้านของตัวเอง หลังคนรักของเธอได้ยิงขู่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นผู้บุกรุก

 

โอซากะบอกว่าที่เลือกเทย์เลอร์ขึ้นมาเป็นคนแรกเพราะ “เธอสำคัญที่สุด”

 

หน้ากากของเธออาจทำให้คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อและเรื่องราวมาก่อนลองค้นหาความจริงใน Google หรือที่ใดก็ตาม

 

 

อีไลจาห์ แม็กเคลน (Elijah McClain)

นักกายภาพบำบัดวัย 23 ปีนิสัยดีที่ควรจะมีอนาคตไกล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเดนเวอร์เรียกตรวจขณะเดินทางกลับบ้านหลังซื้อชาเย็นที่ร้านสะดวกซื้อ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการจับกุม เป็นผลให้สมองของแม็กเคลนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะพยายามให้ความช่วยเหลือแล้ว แต่ในอีก 3 วันต่อมาแพทย์ประกาศว่าสมองของเขาได้ตายไปแล้ว

ตำรวจพยายามแก้ต่างว่าแม็กเคลนปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

“สำหรับฉัน เรื่องราวของแม็กเคลนมันเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด ไม่มีใครจะมาป้ายสีให้เขาเป็นคนร้ายได้ เพราะมีแต่เรื่องราวดีๆ ที่อบอุ่นหัวใจที่ผู้คนจะพูดถึงเขา” โอซากะพูดถึงหน้ากากชิ้นที่ 2 ของเธอในยูเอสโอเพ่น ​ซึ่งเธอเอาชนะ คามิลา จอร์จี ได้

 

 

อาห์หมัด อาร์เบอรี (Ahmaud Arbery)

ในรอบที่ 3 ที่พบกับ มาร์ทา คอสเทียค โอซากะสวมหน้ากากที่มีชื่อของอาห์หมัด อาร์เบอรี ชาวผิวดำวัย 25 ปีที่ไม่มีอาวุธ แต่กลับถูกคนขาว 2 คนไล่ตามล่าในระหว่างวิ่งจ๊อกกิ้งอยู่ที่บรันสวิก ในรัฐจอร์เจีย อย่างโหดร้ายผิดมนุษย์มนา

อาร์เบอรีถูกไล่ตามจนทัน และถูกยิงด้วยปืนลูกซอง 3 นัดก่อนจะเสียชีวิต โดยผู้ก่อเหตุ 2 คน และคนถ่ายคลิปวิดีโออีก 1 คนถูกจับกุม แต่ไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดเมื่อเดือนกรกฎาคม

นั่นคือเหตุผลที่เธอเลือกใส่หน้ากากชื่อของเขา

 

 

เทรย์วอน มาร์ติน (Trayvon Martin)

โอซากะเกือบสะกดน้ำตาไม่ไหวเมื่อเธอเผยให้เห็นถึงข้อความที่เธอได้รับจากครอบครัวของอาร์เบอรี และ เทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของเพื่อนบ้านที่ใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายเมื่อปี 2012

ในระหว่างที่เขากำลังกลับจากร้านสะดวกซื้อโดยถือชาเย็นและขนม

“ฉันก็ไม่แน่ใจว่าฉันจะรับมือเรื่องนี้อย่างไรถ้าฉันต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับพวกเขา” โอซากะกล่าวถึงครอบครัวของมาร์ติน ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏบนหน้ากากของเธอในรอบที่ 4 ซึ่งเธอเอาชนะ เอเน็ตต์ คอนตาเวียต ได้

เธอรู้ว่าสิ่งที่เธอทำไม่อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่ก็หวังว่ามันจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ และเธอยินดีอย่างยิ่งหากเธอจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง

 

 

จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd)

หน้ากากชิ้นนี้มีชื่อของคนที่อาจสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเสียชีวิตจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนิแอโปลิส ที่ใช้เข่ากดคอของเขาจนขาดอากาศหายใจก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาอย่างทรมาน

ความตายของฟลอยด์นำไปสู่การลุกขึ้นสู้ของคนผิวดำทั่วโลก และทำให้คำว่า Black Lives Matter กลับมาอยู่ในใจของคนอีกครั้ง

โอซากะสวมหน้ากากชื่อของฟลอยด์ในรอบก่อนรองชนะเลิศที่พบกับ เชลบี โรเจอร์ส

 

 

ฟิแลนโด คาสไทล์ (Philando Castile)

ในปี 2016 คาสไทล์ ถูกเจ้าหน้าที่ เจโรนิโม ยาเนซ ตำรวจมินนิโซตายิงจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม โดยแฟนสาวของคาสไทล์ได้เผยแพร่วิดีโอเหตุการณ์นาทีปลิดชีวิตผ่าน Facebook Live ทำให้เรื่องถูกกระจายไปในวงกว้าง

อย่างไรก็ดียาเนซไม่ได้รับผลของการกระทำแม้แต่น้อย

นั่นทำให้โอซากะเลือกสวมหน้ากากที่มีชื่อของเขาในเกมรอบรองชนะเลิศกับ เจนนิเฟอร์ เบรดี

 

 

ทาเมียร์ ไรซ์ (Tamir Rice)

คนสุดท้ายที่มีชื่อปรากฏบนหน้ากากของโอซากะในรอบชิงชนะเลิศกับ วิคตอเรีย อซาเรนกา คือ ทาเมียร์ ไรซ์ หนุ่มน้อยวัยเพียง 12 ขวบที่ถูกเสียชีวิตเมื่อปี 2014 ในขณะที่ถือปืนเด็กเล่น

เหตุการณ์เกิดขึ้นจากการที่ ทิโมธี เลห์มานน์ ขึ้นรถสายตรวจมาพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ แฟรงค์ การ์มแบ็ก ก่อนจะขับประชิดหนูน้อยไรซ์ และเพียงแค่ 2 วินาทีต่อมากระสุนจากปืนของทิโมธีก็ลั่นทะลุร่างของไรซ์อย่างโหดเหี้ยม

ตำรวจทั้งสองพยายามแก้ต่างว่าพวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าไรซ์กำลังจะควักปืนมายิงพวกเขา

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X