×

PLUTO จาก ‘ตำนาน’ สู่ ‘ตำนาน’ อีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของ นาโอกิ อูราซาวะ

30.10.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • หากนับตั้งแต่ที่ PLUTO ฉบับมังงะซึ่งเป็นผลงานที่ นาโอกิ อูราซาวะ ทริบิวต์ให้กับปรมาจารย์มังงะที่เขาหลงใหลอย่าง เทซูกะ โอซามุ ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 ความยอดเยี่ยมของมันก็ใช้เวลานานถึง 20 ปีพอดีในการสร้างออกมาเป็นอนิเมะ
  • ถึงจะบอกว่าเอาโครงเรื่องมาทำใหม่ แต่ด้วยชื่อชั้นของอูราซาวะ การวางรายละเอียดยิบย่อยที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ย่อมถูกแสดงออกมาผ่านการกระทำและสามัญสำนึกของตัวละครอยู่เสมอ
  • คงจะไม่เกินจริงนักหากบอกว่า PLUTO ฉบับอนิเมะเป็นศูนย์รวมของคนทำงานมากฝีมือที่รักในผลงานนี้จากก้นบึ้งของหัวใจไม่แพ้กับอูราซาวะที่เขียนมันออกมาเพื่อเคารพผู้ที่ทำให้เขาเข้าสู่วงการนี้

หากนับตั้งแต่ที่ PLUTO ฉบับมังงะซึ่งเป็นผลงานที่ นาโอกิ อูราซาวะ ทริบิวต์ให้กับปรมาจารย์มังงะที่เขาหลงใหลอย่าง เทซูกะ โอซามุ ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 ความยอดเยี่ยมของมันก็ใช้เวลานานถึง 20 ปีพอดีในการสร้างออกมาเป็นอนิเมะ และด้วยจังหวะเวลาที่ถูกปล่อยออกมาก็ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่ามันช่างเป็นเวลาที่เหมาะเสียเหลือเกินในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาใช้ AI และหุ่นยนต์ในการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของตัวเอง แต่อีกด้านพวกเขาก็ไม่วายที่จะควบคุมมันให้ไม่สามารถเข้ามาแทนที่หรือรุกล้ำความปลอดภัยของมนุษย์

 

และอย่างที่หลายคนทราบกันว่า PLUTO ของอูราซาวะได้หยิบเอา The Greatest Robot on Earth ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในผลงานระดับตำนานของโอซามุอย่าง Astro Boy (1952-1968) มาใช้เป็นโครงในการเล่าเรื่องโดยตีความใหม่ให้มีเนื้อหาที่ทันสมัยและจริงจังขึ้น ด้วยเหตุนี้เรื่องราวการต่อสู้ของหุ่นยนต์ทั้ง 7 เพื่อพิสูจน์ว่าตัวไหนแข็งแกร่งที่สุดจึงถูกเปลี่ยนเป็นแนวสืบสวนสอบสวนเพื่อสำรวจมิติทางอารมณ์ของพวกเขาในโลกอนาคตที่หุ่นยนต์กับมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน

 

 

ที่สำคัญ ตัวเอกของเรื่องไม่ใช่เจ้าหนูปรมาณู แต่เป็น Gesicht หุ่นยนต์นักสืบที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แต่คำถามที่อูราซาวะวางไว้ก็เป็นอะไรที่เรียบง่ายและทรงพลัง นั่นคือ “จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งอย่างพวกเขาถูกฆ่าตายได้ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์” คำถามนี้กลายเป็นปมเปิดเรื่องของ PLUTO ได้อย่างน่าค้นหา เมื่อมันฉายภาพการตายของ Mont Blanc ท่ามกลางเศษซากปรักหักพังของต้นไม้และเปลวเพลิงโดยที่ตัวเขาถูกแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ พร้อมกับถูกทำสัญลักษณ์รูปเขาสัตว์บนหัว

 

ทว่าปริศนาที่ Gesicht ต้องหาคำตอบไม่ได้มีแค่เรื่องของหุ่นยนต์ เพราะในเวลาต่อมา การตายในลักษณะเดียวกันกลับเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย และไม่มากไม่น้อยมันกลายเป็นคำถามใหญ่ว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องมีเหตุจูงใจมาจากอะไร เพราะหุ่นยนต์ไม่สามารถฆ่ามนุษย์ได้ แต่ในทางกลับกันมนุษย์สามารถทำลายหุ่นยนต์ได้ โดยปริยายการที่มีมนุษย์ตกเป็นเหยื่อจึงเป็นการสั่นคลอนรากฐานของสังคมที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเผ่าพันธุ์กลายเป็นเงื่อนไขที่ผูกมัดความยากง่ายของคดีนี้

 

 

ถึงจะบอกว่าเอาโครงเรื่องมาทำใหม่ แต่ด้วยชื่อชั้นของอูราซาวะ การวางรายละเอียดยิบย่อยที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ย่อมถูกแสดงออกมาผ่านการกระทำและสามัญสำนึกของตัวละครอยู่เสมอ หรือถ้าจะพูดให้ถูกเพราะเป็นอูราซาวะต่างหากที่เรื่องของสองเผ่าพันธุ์ที่ถูกแบ่งแยกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนถึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาสามารถเชื้อเชิญผู้คนออกไปสำรวจแง่มุมของสรรพชีวิตได้ราวกับมีเลือดเนื้อจริงๆ

 

ในทำนองเดียวกัน การดัดแปลงมังงะอย่าง PLUTO มาเป็นอนิเมะจึงเป็นเหมือนการนำผลงานที่มีองค์ประกอบยอดเยี่ยมอยู่แล้วมาเคาะ จัดระเบียบ และเรียบเรียงการเล่าเรื่องให้ดูเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น โดยการ ‘ขยับ’ เนื้อหาบางส่วนให้ดูเหมาะสมกับการดัดแปลงเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหว เช่น การขยับ Brando ไปไว้หลัง Atom ซึ่งแต่เดิมในมังงะ Gesicht จะได้พบกับ Brando ก่อน ทั้งหมดก็เพื่อทำให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถใช้เป็นองค์ประกอบในการเสริมสร้างสถานการณ์ของตัวละครให้ดูลื่นไหลมากขึ้น พร้อมกับผลักดันเรื่องราวให้ไปถึงจุดจุดหนึ่งเสมอ

 

Monster (2004-2005)

 

เช่นเดียวกับผลงานขึ้นหิ้งหลายเรื่องของอูราซาวะ ความต่างและไม่ยึดติดกับมุมมองส่วนบุคคลกลายเป็นมนตร์เสน่ห์สำคัญที่ชักจูงให้ผู้คนรู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่ตัวละครเผชิญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Monster (2004-2005) ที่สำรวจเส้นแบ่งระหว่างความดีความชั่ว พร้อมตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ผ่านการเดินทางของศัลยแพทย์หนุ่มที่จนแล้วจนรอดความต่างทางความคิดของเขากับฆาตกรก็ยากจะสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายที่ถูก

 

ส่วน PLUTO ความต่างที่ว่ามาในคราบของเผ่าพันธุ์ โดยมีผลกระทบของสงครามเป็นพื้นหลังคอยขับเคลื่อนเรื่องราวและตั้งคำถาม ถึงกระนั้นเส้นเรื่องที่วางไว้ก็ไม่ได้เถรตรง เมื่อความไม่สมบูรณ์พร้อมถูกเล่าออกมาผ่านหุ่นยนต์กับมนุษย์ที่ในทางหนึ่งพวกเขาดูต่างกันแต่เหมือนกันแทบจะทุกประการ

 

 

การเดินทางตามหาความจริงของ Gesicht จึงกลายเป็นการสำรวจความคิดที่แตกต่างกันของหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูง และเรียนรู้ความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่อาจเข้าใจ แต่ความหลักแหลมของอูราซาวะในเรื่องนี้คือ เขาออกแบบตัวละครทั้งหมดให้มีความลึกตื้นหนาบางอย่างมีเหตุผลและซาบซึ้งกินใจเกินเส้นแบ่งของคำว่า ‘เผ่าพันธุ์’

 

ถ้าจะให้สรุปแบบรวบยอดโดยไม่เปิดเผยเนื้อหา การกระทำของพวกเขาทั้งดีและชั่วล้วนตั้งอยู่บนตรรกะของความสูญเสียจนเกิดเป็นความเกลียดชังที่พร้อมจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทว่าความเกลียดชังที่ก่อตัวขึ้นในใจของมนุษย์กับหุ่นยนต์จะมีวันจางหายไปไหม แน่นอนว่าอูราซาวะเองก็ให้คำตอบที่แท้จริงไม่ได้ นัยหนึ่งมันเลยกลายเป็นปริศนาธรรมที่ถูกตั้งเอาไว้ให้กับคนที่เข้ามาสัมผัสผลงานชิ้นนี้

 

แต่ความคมคายของเขาไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อการขมวดปมคดีฆาตกรรมกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและกะเทาะความสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ หุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองอย่างมีชั้นเชิง ชนิดที่ใครก็ยากจะเลียนแบบได้

 

 

อย่างไรก็ตาม การดัดแปลง PLUTO มาเป็นอนิเมะก็ต้องยกความดีความชอบให้กับโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่อย่าง มาซาโอะ มารุยามะ ที่เคยร่วมงานกับอูราซาวะมาแล้วหลายครั้งในอนิเมะเรื่อง Yawara! (1989-1992), Master Keaton (1998-1999) และ Monster (2004-2005)

 

นอกจากนี้หากเปิดประวัติของมาซาโอะแบบเร็วๆ ก็จะพบว่าเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Madhouse และ MAPPA ที่ในปัจจุบันเป็นสองสตูดิโออนิเมะที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นคนที่ผลิตผลงานชิ้นเอกให้กับวงการอีกมากมาย เช่น บรรดาอนิเมะของ ซาโตชิ คอน อย่าง Perfect Blue (1997), Millennium Actress (2001), Tokyo Godfathers (2003) และ Paprika (2006)

 

ฉะนั้นการได้เขาที่เข้าใจการดัดแปลงมังงะของอูราซาวะมากที่สุดคนหนึ่งมาช่วยดูแลงานสร้างจึงเป็นส่วนสำคัญมากๆ และด้วยความที่มาซาโอะเคยเล่าว่าเขากับทีมใช้เวลาในการปั้นโปรเจกต์นี้ประมาณ 10 ปี เพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับเรื่องราว ก็คงกล่าวยกยอได้อย่างเต็มปากว่าด้วยน้ำพักน้ำแรงที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน พวกเขาได้สำแดงความยอดเยี่ยมของ PLUTO ออกมาอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยการทำให้ Atom สุดคลาสสิกของโอซามุเป็นอมตะ!

 

 

แต่ถึงกระนั้นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือทีมแอนิเมชันที่ประกอบด้วย โทชิโอะ คาวากุจิ ผู้กำกับ, ชิเกรุ ฟูจิตะ ผู้ออกแบบตัวละคร และ อิทารุ ไซโต ผู้ออกแบบแอนิเมชัน เพราะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดเส้นทางอาชีพของพวกเขาในฐานะ Key Animator ทำให้แอนิเมชันของ PLUTO ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่แอ็กชันหลัก แอ็กชันรอง (แอ็กชันเพิ่มเติมที่รองรับแอ็กชันหลัก) แอ็กชันที่ทับซ้อนกัน (แอ็กชันที่ทำออกมาด้วยแนวคิดที่ว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเคลื่อนไหวในอัตราที่ต่างกัน) ไปจนถึงแอนิเมชันแบบต่อเนื่อง (เพื่อรองรับอวัยวะบางส่วนของร่างกายที่อาจขยับต่อไปได้แม้จะเคลื่อนไหวเสร็จแล้ว)

 

ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ความลื่นไหลของแอนิเมชันนั้นไม่ขาดตอนและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่บ่งบอกถึงการเอาใจใส่ของพวกเขา ไม่เพียงแค่นั้น การใส่ส่วนผสมของ CGI ลงไปในงาน 2D ก็เป็นมิติในการสร้างแอนิเมชันที่ดูร่วมสมัยและน่าสนใจดี ถึงจะดูขัดแย้งกับภาพรวมของงานที่วาดด้วยมือก็ตาม

 

 

อีกส่วนที่น่ากล่าวถึงคือดนตรีประกอบที่ได้ ยูโกะ คันโนะ ผู้มีชื่อเสียงมาจากการทำดนตรีประกอบให้กับแฟรนไชส์อนิเมะชื่อดังอย่าง JoJo’s Bizarre Adventure และ Psycho-Pass มาประพันธ์ เพราะด้านหนึ่งมันกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับกล่อมสถานการณ์ของตัวละคร รวมถึงสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยได้ของพวกเขา

 

และก็คงจะไม่เกินจริงนักหากบอกว่า PLUTO ฉบับอนิเมะเป็นศูนย์รวมของคนทำงานมากฝีมือที่รักในผลงานนี้จากก้นบึ้งของหัวใจไม่แพ้กับอูราซาวะที่เขียนมันออกมาเพื่อเคารพผู้ที่ทำให้เขาเข้าสู่วงการนี้

 

 

โดยรวมแล้วตลอด 8 ตอนของอนิเมะเรื่องนี้จึงกลายเป็นการส่งต่อความยอดเยี่ยมบนหน้ากระดาษมาสู่คนดูด้วยความรักและความจริงใจ ข้อสำคัญมันยังทำให้ครุ่นคิดพินิจถึงความต่างระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ได้อย่างลุ่มลึก เมื่อทั้งหมดอาจสอดคล้องกับประโยคที่ตัวละครหนึ่งพูดว่า “อย่าสร้างหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากไปกว่านี้” เพราะแง่หนึ่งมนุษย์กับหุ่นยนต์ไม่ได้ต่างกัน พวกเขารักเป็น เสียใจเป็น และอาจโกหกเป็น แต่แค่ไม่เข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นครบถ้วนทุกประการเท่านั้นเอง

 

สุดท้ายก็หวังว่า PLUTO จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด เพื่อที่อูราซาวะจะได้ขยับแผนการเกษียณของตัวเองออกไปอีกสักหน่อย และทำ 20th Century Boys หนึ่งในผลงานที่หลายคนรอคอยมากที่สุดของเขาเป็นอนิเมะเสียที

 

สามารถรับชม PLUTO ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่: https://youtu.be/vzbstPSLHG0

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X