วันนี้ (23 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นถึงกรณีพรรคการเมืองจะนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยระบุว่า กลุ่มเรามีความคิดเห็นร่วมกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาคือรั่วทุกจุด เดิมเราต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่ดูจากกระบวนการแล้วน่าจะเป็นไปได้ช้ามาก อาจทำไม่ทันใน 3 ปีที่เหลือของรัฐบาลนี้
ดังนั้น หากมีการแก้ไขรายมาตราเพื่อลดจุดบกพร่องและแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองได้ก็คิดว่าเป็นประโยชน์และน่าสนับสนุน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ คงต้องดูกันอีกครั้งหนึ่งว่าแต่ละมาตราที่เสนอไปมีความสมเหตุสมผลในการปรับแก้อย่างไร
สำหรับข้อครหาที่มองว่าการเสนอแก้ไขเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองด้วยกันเองนั้น นันทนาชี้ว่า ปัญหาตรงนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดให้จริยธรรมเข้าไปอยู่ในกฎหมาย แท้จริงแล้วเรื่องจริยธรรมคือ Code of Conduct (จรรยาบรรณธุรกิจ) ซึ่งควรเป็นเรื่องที่กลุ่มวิชาชีพขององค์กรในสายอาชีพนั้นได้พิจารณาตกลงกันเองว่าพฤติกรรมของใครที่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเข้ามาเป็นกฎหมายจึงไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเรื่องไหนทำได้หรือไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องอาศัยการตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าจริยธรรมนี้ขึ้นอยู่กับตุลาการจำนวน 9 คนในการพิจารณา จึงควรมีข้อกำหนดชัดเจนที่คนสามารถปฏิบัติตามได้ แต่การใช้คำว่าจริยธรรมและอาศัยการตีความซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูงมาก สุดท้ายการตีความนั้นขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน จึงเห็นว่าควรปรับแก้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
“นี่ไม่ใช่เรื่องของประโยชน์ทับซ้อน และหากจะบรรจุเข้าไปในกฎหมาย ควรต้องกำหนดให้ชัดว่าพฤติกรรมไหนผิดหรือไม่ผิดจริยธรรม และไม่ควรต้องย้อนกลับไปเมื่อชาติที่แล้วว่าเขาเคยทำอะไรไว้เมื่อ 20 ปีก่อนก็เอามา ทั้งที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้ตัดสินใจจะเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำไป แต่กลับถูกนำเรื่องนี้มาดำเนินคดีกับเขา ณ ปัจจุบัน” นันทนากล่าว
ส่วนจะเห็นด้วยกับร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหรือไม่นั้น นันทนาระบุว่า ในเบื้องต้นเห็นว่ากระบวนการแก้รายมาตราถือเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม คงต้องขอการสนับสนุนจากวุฒิสภา ซึ่งต้องใช้เสียงถึง 1 ใน 3 คือ 67 เสียง หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องหวาดระแวงตลอดเวลาว่าจะมีผู้มาร้องเรียนเรื่องในอดีตเมื่อไร หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปผิดตรงไหน
เมื่อสื่อมวลชนถามถึงกรณีที่มีผู้ยื่นร้องให้เพิกถอนการเลือก สว. ทั้งหมด เนื่องจากกระบวนการเลือกมีความไม่สุจริตเที่ยงธรรม นันทนากล่าวว่า กระบวนการเลือก สว. มีปัญหามาตั้งแต่ต้น ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีเรื่องร้องเรียนกว่า 700-800 เรื่อง จึงควรให้เวลา กกต. สะสางเรื่องนี้ และหากล่าช้าจนเกินไป ถึงตอนนั้นจึงควรไปเร่งรัดให้มีมาตรการและการตรวจสอบที่รวดเร็วกว่านี้ ควรจะตัดสินพิจารณา หรืออย่างน้อยที่สุดหาก กกต. ไม่แน่ใจก็ควรส่งให้ศาลพิจารณาเลย
“แต่การจะบอกว่า สว. ทั้งหมดที่เข้ามามีปัญหาและล้มกระดานเลย ก็คิดว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เข้ามาอย่างสุจริตโปร่งใสตามกระบวนการที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่กลับต้องถูกล้มกระดาน เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง” นันทนากล่าว