×

ผลประโยชน์จาก ‘โครงการผันน้ำยวม’ ใครคือผู้ได้รับ? [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2023
  • LOADING...

ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำหลาก ในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่ากรมชลประทานจะมีมาตรการบริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งทั้งการใช้ระบบชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ การจัดสรรน้ำทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ไปจนถึงให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ 

 

แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดสรรน้ำยังเกิดจากปริมาณน้ำต้นทุนไม่พอเพียง ปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 รวมทั้งสิ้น 64,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปี 2564 กว่า 5,495 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,770 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 6,330 ล้าน ลบ.ม. ด้านลุ่มแม่กลอง ใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนหลัก (เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 22,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 1,349 ล้าน ลบ.ม. 

 

สวนส้มเฮียประทีบ บ้านหนองนกชุม ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

 

ปริมาณน้ำต้นทุนที่ดูเหมือนจะสามารถจัดสรรได้อย่างพอเพียง ยิ่งทำให้ข้อถกเถียงถึงความจำเป็นในการผลักดันโครงการผันน้ำยวม ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่ทางกรมชลประทานให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจะทำให้เกษตรกรภาคกลางมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคง 

 

คำถามที่ตามมาคือ หากกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนได้ดีขึ้น โครงการผันน้ำยวมยังจำเป็นอยู่หรือไม่? หรือหากจำเป็นจริงจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดจะได้รับประโยชน์จริงอย่างที่กล่าวไปหรือเปล่า 

 

THE STANDARD ลงพื้นที่บ้านหนองนกชุม ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร พูดคุยกับ สมศรี นามสง่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 หนองนกชุม ถึงแนวทางการรับมือภัยแล้งของพี่น้องเกษตรกร จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้สามารถทำนาได้เพียงปีละครั้ง จนกระทั่งปี 2545 กรมชลประทานเข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้บางปีสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง  

 

สมศรี นามสง่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 หนองนกชุม

 

“แทบจะนับปีได้ที่น้ำจะพอเพียง บางปีน้ำแล้ง เขาก็แจ้งมาแล้วว่าจะไม่ส่งน้ำมาทำนานะ แต่จะส่งเฉพาะรักษาระบบนิเวศ ชาวบ้านก็ต้องเข้าใจ เราทำอะไรไม่ได้ น้ำมันไม่มี” 

 

แม้ว่าในจังหวัดกำแพงเพชร กรมชลประทานจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่การเกษตรกว่า 750,000 ไร่ ก็เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะระยะเวลาของช่วงที่ขาดแคลนน้ำมากกว่า และส่งผลกระทบต่อเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ 

 

“เกษตรกรในจังหวัดก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีการปลูกพืชไร่ใหม่ มาทำไร่นาผสมผสาน ปลูกพืชน้ำน้อยแทน หันมาปลูกข้าวโพด ถั่วเขียวกันไป ยิ่งปีไหนเขื่อนภูมิพลน้ำไม่เต็มก็ได้รับผลกระทบมากเพราะเขาจำกัดน้ำ ทุกวันนี้ต้องดูปริมาณน้ำในเขื่อนด้วย ถ้าเห็นแล้วว่าน้ำน้อยเกษตรกรก็ต้องวางแผนให้รอบคอบว่าปีนั้นจะปลูกพืชอะไร อย่างตอนปี 2562 เจอวิกฤตน้ำแล้งเข้าไปด้วย เกษตรกรก็ขาดน้ำทำมาหากิน เกิดการประท้วงขอน้ำจากกรมชลประทาน ตั้งแต่พิจิตร นครสวรรค์ ขึ้นมาเรียกร้องขอน้ำจากกำแพงเพชร เพราะกรมชลฯ ผันน้ำออกไปแต่ก็ยังไม่ถึงทุกพื้นที่ เพราะน้ำมันน้อย ทำอย่างไรก็ไม่พอเพียง” 

 

 

ในฐานะตัวแทนหมู่บ้านที่เห็นพี่น้องเกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอดจากรายได้ที่ไม่พอเพียง ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า โครงการผันน้ำยวม เป็นเหมือนความหวังเล็กๆ ของคนในจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 

 

“ได้ยินโครงการนี้มานานมากๆ ถามคนพื้นที่นี้ก็ต้องอยากให้เกิดขึ้น ผมติดตามข่าวทุกปีว่าจะอนุมัติสร้างได้หรือไม่ ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นผลดีกับพี่น้องเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีน้ำมาเติมในเขื่อนภูมิพล 1,700-2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขอแค่เขื่อนภูมิพลมีน้ำแค่ 80% พี่น้องเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะได้กลับมามีพื้นที่ทำกินกันแล้ว พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก และกำแพงเพชรจะได้ประโยชน์ร่วมกัน และสามารถร่วมบริหารจัดการใช้น้ำได้ ถ้าน้ำมันเพียงพอนะ แต่น้ำไม่พอบริหารจัดการอย่างไรก็ต้องมีพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ” 

 

สวนส้มเฮียประทีบ บ้านหนองนกชุม ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

 

ผู้ใหญ่บ้านยังบอกด้วยว่า ผลดีไม่ใช่แค่กับเกษตรกรเท่านั้น แต่จะเกิดการจ้างงานในชุมชนและจังหวัดโดยรอบ และก็เห็นใจคนที่ได้รับผลกระทบ เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ไขและเยียวยาได้อย่างเหมาะสม 

 

“ก็เห็นใจพี่น้องชาวไทยทุกคนเหมือนๆ กัน แต่พูดกันตามตรงคนที่จะได้รับผลประโยชน์ก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น เชื่อว่าคนกำแพงเพชรก็คิดเหมือนกัน” เสียงสะท้อนเล็กๆ จากใจคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่หวังเพียงว่า น้ำที่พอเพียงและทั่วถึงจะทำให้พี่น้องจังหวัดกำแพงเพชรสามารถทำมาหากินบนพื้นดินของตัวเองได้อีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X