แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้ ‘ธุรกิจสุขภาพ’ โตสวนกระแส โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน’
บทวิเคราะห์ในหัวข้อ ‘Checkup ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหลังโควิดซา’ ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า ปี 2567 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะขยายตัว 8-12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องที่ 6-10% ในปี 2568
สอดคล้องกับที่ ttb analytics ประเมินรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2567 ที่คาดว่าอาจสูงแตะ 3.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 3.14 แสนล้านบาท
เมกะเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมือง อัตราการเสียชีวิตจากโรคซับซ้อนรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษา และการสนับสนุนของภาครัฐด้าน Medical Tourism ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้โรงพยาบาลเอกชนต้องปรับกลยุทธ์เพื่อยกระดับการรักษาที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
‘โรงพยาบาลนครธน’ ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ปรับกลยุทธ์เพื่อผู้รับบริการมาตลอด 28 ปี
ถ้าให้นึกถึงโรงพยาบาลชั้นนำของพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก บนถนนพระรามที่ 2 ‘โรงพยาบาลนครธน’ คงเป็นหนึ่งในชื่อแรกๆ ที่ผู้ใช้บริการนึกถึง ด้วยเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานไว้รองรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก โรงพยาบาลนครธนจึงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกที่สามารถให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในสาขาอายุรศาสตร์เฉพาะทางและ
สาขาเฉพาะทางอื่นๆ
เพราะ ‘เราคิดไกล…เพื่อให้คุณมั่นใจในทุกช่วงเวลาของชีวิต’ มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำในระดับประเทศ
เป้าหมายของโรงพยาบาลนครธน คือต้องการให้ผู้รับบริการทุกเพศ ทุกวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และให้บริการการรักษาทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลผู้รับบริการในทุกช่วงเวลาของชีวิต
ปัจจุบันโรงพยาบาลนครธนมีศูนย์การแพทย์ 20 ศูนย์ ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ให้บริการ เช่น ศูนย์สมองและระบบประสาท, ศูนย์หัวใจ, ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ, ศูนย์กระดูกสันหลัง, ศูนย์มะเร็ง, ศูนย์ทันตกรรม ฯลฯ และแผนกการรักษาผู้ป่วย 1 แผนก ได้แก่ แผนกไตเทียม ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการรักษา (Advanced Care) เพื่อตอบสนองการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness) และการรักษา (Medical) แบบองค์รวม
เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการ โรงพยาบาลนครธนจึงจับมือกับบริษัทชั้นนำอย่าง บริษัท บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก จำกัด ในการจัดตั้งศูนย์มะเร็ง เพื่อให้บริการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงดูแลด้านสภาวะทางจิตใจ รวมถึงจัดตั้งศูนย์กระดูกสันหลังกับ บริษัท บำรุงราษฎร์ สไปน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามมาตรฐานสากล และให้การดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ทำให้วันนี้โรงพยาบาลนครธนเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ที่สามารถให้การรักษาได้แบบครบวงจร (One Stop Service)
ทำเลศักยภาพเสริมแกร่งการเติบโตของธุรกิจ
ด้วยจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลนครธน ที่อยู่บนถนนพระรามที่ 2 ริมทางหลวงสายหลักมุ่งสู่ภาคตะวันตกของกรุงเทพฯ และสู่ภาคใต้ของประเทศไทย มีการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองทำได้สะดวก อีกทั้งแวดล้อมไปด้วยโรงเรียนนานาชาติ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานที่ราชการสำคัญ ส่งผลให้ทำเลพระราม 2 มีศักยภาพที่จะเป็น ‘เขตเมืองแห่งใหม่’ ของกรุงเทพฯ ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าการขยายตัวของเมืองย่อมตามมาด้วยจำนวนประชากร และความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เพิ่มตามมา
ที่ผ่านมาฐานลูกค้าเดิมของโรงพยาบาลนครธนก็มีจำนวนมากและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัดได้จากจำนวนผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลของโรงพยาบาลนครธน พบว่า ณ สิ้นปี 2566 มีผู้ป่วยจำนวน 133,719 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 37,270 ราย จากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 96,449 ราย หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.51% ต่อปี ในขณะที่รายได้รวมสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 1,521.34 ล้านบาท กำไร 190.83 ล้านบาท
กลยุทธ์ของโรงพยาบาลนครธน ต่อจากนี้จะวางแผนพัฒนาและขยายการลงทุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแพทย์ การปรับปรุงอาคารและขยายพื้นที่ในการให้บริการ รวมไปถึงการลงทุนเตรียมการก่อสร้างโครงการในอนาคต 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงพยาบาลนครธน 2 ซึ่งจะให้บริการผู้ประกันตนและผู้รับบริการทั่วไป ขนาด 151 เตียง, โครงการนครธน ลองไลฟ์ เซ็นเตอร์ (Nakornthon Long Life Center) ซึ่งจะเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงแบบองค์รวม และโครงการขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนห้องพิเศษ (VIP) จำนวน 17 เตียง และห้องสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) จำนวน 18 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการห้องที่มีความกว้างขวาง และสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น
วางแผนเปิด ‘โรงพยาบาลนครธน 2’ มุ่งเน้นให้บริการผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม
กลยุทธ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ แผนการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่มุ่งเน้นให้บริการผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมภายใต้ชื่อ ‘โรงพยาบาลนครธน 2’ ขนาด 151 เตียง
โดยโรงพยาบาลนครธน 2 จะสามารถให้บริการผู้ประกันตนที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครเขต 7 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตจอมทอง, ทุ่งครุ, บางขุนเทียน, บางบอน และราษฎร์บูรณะ ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมด้วยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน 2 จึงมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำสำหรับโรงพยาบาลประกันสังคม
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างโรงพยาบาลนครธน 2 โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นและสามารถเปิดให้บริการสำหรับผู้รับบริการทั่วไปได้ประมาณปี 2568 และคาดว่าจะเปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมได้ในประมาณปี 2570
โอกาสขยายฐานผู้รับบริการชาวต่างชาติ
นอกจากการให้บริการที่ครอบคลุมครบทุกช่วงวัย โรงพยาบาลนครธนยังเห็นโอกาสในการขยายการให้บริการแก่กลุ่มผู้รับบริการชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ชาวเมียนมาที่มีฐานะทางการเงินที่ดี โดยมีการแต่งตั้งตัวแทนให้ดำเนินการด้านการตลาดในประเทศเมียนมา กัมพูชา และบังกลาเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการประสานงานเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลนครธนในประเทศไทยได้
ความสำเร็จอีกขั้น ‘เตรียมขายหุ้น IPO และเตรียมเข้า SET’
สำหรับเป้าหมายการเติบโต ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจและฐานเงินทุน โดยหลังจากยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 135,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.23% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ้างอิง:
- https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/tba-private-hospital-business-2024
- https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/610729
- https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=alJIN3ZFRVRya1k9
- https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=L29TSkFqNWthaU09