×

นครพนมเทิร์นอะราวด์: จุดประกายเศรษฐกิจชายแดนรอบใหม่?

โดย THE STANDARD TEAM
28.04.2025
  • LOADING...
ภาพรวมการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดนครพนม โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ที่จังหวัดนครพนม ในวันที่ 29 เมษายนนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้ง สำหรับการพัฒนาจังหวัดชายแดนแห่งนี้ 

 

ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อครั้งที่ ครม. สัญจรในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2547ได้อนุมัติโครงการสำคัญระดับภูมิภาคอย่างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3  (นครพนม-คำม่วน) งบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งได้พลิกโฉมและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับจังหวัดนครพนมมาจนถึงปัจจุบัน 

 

การประชุม ครม. สัญจร ครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตามองว่า จะมีโครงการสำคัญใดบ้างที่จะได้รับการผลักดัน 

 

ยกระดับกลุ่มจังหวัดสนุก กระตุ้นท่องเที่ยว

 

รัฐบาลมุ่งมั่นยกระดับกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร) ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2568 ที่ถูกผลักดันให้เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมเมืองรองให้เป็น ‘เมืองน่าเที่ยว’  ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

 

สำหรับกลุ่มจังหวัดสนุก รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ โดยจะมีการส่งเสริม 3 เทศกาลสำคัญในช่วงออกพรรษา (7 ตุลาคม 2568) ได้แก่ 

 

  • การยกระดับเทศกาลไหลเรือไฟสู่มหกรรมเรือไฟโลกเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย 
  • งานแห่ปราสาทผึ้งเพื่อสืบสานภูมิปัญญาจากขี้ผึ้งธรรมชาติ 
  • เทศกาลแข่งเรือยาวโบราณ รวมถึงประเพณีแข่งเรือยาวออกพรรษา ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว

 

ตั้งคณะแพทย์ มนพ. รองรับบุคลากรขาดแคลน 

 

นอกจากนั้นรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขในภาคอีสานตอนบน โดยได้อนุมัติจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของชุมชนในภาคอีสานตอนบน และแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของชุมชน

 

เชื่อมโยงทุกมิติคมนาคม รับนักท่องเที่ยวและประชาชน

 

กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ครอบคลุมทั้งทางอากาศ ทางถนน และทางราง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งอย่างครบวงจร

 

ทางอากาศ: เตรียมเพิ่มเส้นทางบินสู่ท่าอากาศยานนครพนมและสกลนคร พร้อมศึกษาการก่อสร้างสนามบินมุกดาหาร คาดแล้วเสร็จปี 2568

 

ทางราง: โครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม คาดเปิดให้บริการปี 2571 รองรับผู้โดยสารกว่า 3.8 ล้านคน/ปี และขนส่งสินค้ากว่า 7 แสนตัน/ปี นอกจากนี้ ยังมีแผนรถไฟสายใหม่อีก 3 เส้นทางในอนาคต 

 

รวมถึงการก่อสร้างศูนย์ขนส่งสินค้าชายแดนนครพนม เปิดปี 2568 เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางถนนบนเส้นทาง R12 ระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีนตอนใต้ และรองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้บริการแบบ One Stop Service

 

ทางถนน: ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการ และมีแผนก่อสร้างเพิ่มเติมอีกกว่า 20 โครงการในพื้นที่ เพื่อเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน

 

สืบสานพระราชปณิธาน ‘นาหว้าโมเดล’ 

 

กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ เตรียมมอบผ้าไหมลายสิริราชพัสตราภรณ์ที่ทอขึ้นเป็นพิเศษแด่นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ และการขับเคลื่อนโครงการสืบสานพระราชปณิธาน ‘นาหว้าโมเดล’ ภายใต้แนวคิดผ้าไทยใส่ให้สนุก 

 

คุณแม่วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ประธานกลุ่มฯ เปิดเผยถึงความภาคภูมิใจที่ได้ถวายงานทอผ้าแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอบคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยให้การสนับสนุนและส่งเสริมผ้าไหมของกลุ่มจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง 

 

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. สัญจร จังหวัดนครพนม จะมีการมอบ ‘ชุดสีโคตรบูร’ ซึ่งตัดเย็บจากผ้าไหมทอมือของกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ลายขอก่ายแก้ว อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้แก่ครม.ได้สวมใส่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้จังหวัดยังเตรียมมอบกระเป๋ากกสานลายเกล็ดพญานาคและลิ้นจี่นครพนมพันธุ์ นพ.1 ที่ปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม และได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นของที่ระลึกอีกด้วย 

 

แก้ปัญหาเส้นทางขนส่ง​ R12-ปรับวิธีตรวจทุเรียน หนุนค้าชายแดน

 

การลงพื้นที่จังหวัดนครพนมของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่การติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรนครพนม ซึ่งเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 และด่านท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม 

 

ทั้งด่านศุลกากรนครพนม และด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม ต่างมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเดินทางข้ามพรมแดน รวมถึงการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมาย

 

นายด่านศุลกากรนครพนมเปิดเผยถึงปัญหาและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการในพื้นที่กำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเส้นทางการขนส่ง R12 ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์และมีเพียง 2 ช่องจราจร ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งชะงักเมื่อเกิดอุบัติเหตุ 

 

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนถึงความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน ที่ทางการจีนกำหนดให้ตรวจสอบสารแคดเมียม และ BY2 จากแหล่งที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก 

 

ผู้ประกอบการจึงเสนอให้รัฐบาลเจรจากับจีนเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นการสุ่มตรวจแทนการตรวจทุกตู้สินค้า เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเจรจาเพื่อขยายเวลาเปิดทำการของด่านตงซิง ซึ่งปัจจุบันเปิดทำการเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อให้การขนส่งสินค้ามีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising