วันนี้ (10 มกราคม) การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เนื่องจาก วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หมดวาระการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566
โดยที่ทั้งนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเลือก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยจากนี้จะดำเนินตามขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ ต่อไป
ปัจจุบันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบองค์คณะ 9 คน ดังนี้
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- ปัญญา อุดชาชน
- อุดม สิทธิวิรัชธรรม
- วิรุฬห์ แสงเทียน
- จิรนิติ หะวานนท์
- นภดล เทพพิทักษ์
- บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
- อุดม รัฐอมฤต
- สุเมธ รอยกุลเจริญ
เปิดประวัติประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ PH.D. (International Studies) มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง
เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 – 31 มกราคม 2553 เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2557-2558 รวมทั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี2549-2550
นครินทร์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งจะครบกำหนดและพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2567
ศาลรัฐธรรมนูญคืออะไร
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือ การพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอันตกไป รวมถึงการวินิจฉัยปัญหาที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์กรการเมืองที่กระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการทั้งหมด 9 คน มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน, ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน
ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการได้รับเสียงความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ถึงจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ