วานนี้ (1 กรกฎาคม) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงวาระการประชุมในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ว่า มีการอภิปรายคดียุบพรรคก้าวไกล รวมถึงคดีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคดีของ ไพบูลย์ นิติตะวัน กรณี MOU 2544 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงคดีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคดีนี้นัดลงมติชี้ขาด โดยยืนยันว่าคดีที่กล่าวมาทั้งหมดจะเสร็จสิ้นก่อนเดือนกันยายนนี้
ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ชัดว่าจะเปิดให้มีการไต่สวนหรือไม่ ต้องรอที่ประชุมตุลาการ โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าคดีไหนจะเสร็จก่อน ซึ่งคดียุบพรรคก้าวไกลที่สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นเพิ่มเติมคือคู่ความ ได้แก่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมว่าจะเปิดให้มีการไต่สวนหรือไม่ แม้ตนเป็นประธาน แต่ไม่สามารถแทรกแซงตุลาการได้
ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวถึงการวินิจฉัยคดีท่ามกลางความกดดันทางการเมืองว่า ตุลาการก็กดดันตัวเอง สังคมก็กดดัน ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะเป็นคดีสำคัญ แต่ตุลาการต้องมีความเที่ยงธรรม ดูให้พอเหมาะพอควรในข้อชี้แจงและข้อสงสัย ก่อนที่จะประชุมและวินิจฉัยคดี
“การตัดสินใจของศาลเป็นการตัดสินใจโดยองค์คณะ ไม่ใช่การตัดสินใจโดยคนคนเดียว ในองค์คณะก็มีความเห็นเป็นอิสระ เราก็ให้ความเคารพ และชี้แจงความชัดเจนในใบแถลงข่าว ซึ่งต่อไปเสียงข้างน้อยข้างมากก็จะใส่ชื่อให้หมด” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวถึงการที่พรรคก้าวไกลแถลงคดีถึง 2 ครั้งว่า จะต้องไปคุยในองค์คณะตุลาการ แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะศาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ ดังนั้นในฐานะตุลาการไม่ขอตอบโต้ หลังจากที่ศาลเคยสั่งห้ามไม่ให้คู่ความแสดงความเห็นอันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นคำเตือน แต่ศาลขอให้ดูความพอดี พอเหมาะ พอควรด้วย และศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้ง จึงไม่ขอตอบโต้จากการแถลงข่าวของแต่ละฝ่าย
“สังคมไทยก็มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร ก็ดำเนินการไปในสิทธิที่พอเหมาะ พอควร แต่ยืนยันว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งและไม่ใช่คู่ต่อสู้ ดังนั้นศาลจะไม่ตอบโต้” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว