วันนี้ (15 สิงหาคม) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีการส่งผลสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลตำรวจ ว่าอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการรักษาตัว ให้ ป.ป.ช.
นิวัติไชยกล่าวว่า ตอนนี้ได้รับรายละเอียดดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบคำวินิจฉัยของ กสม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการตรวจสอบ ในระหว่างการตรวจสอบ ป.ป.ช. ก็จะฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน
เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยของ กสม. จะทำให้การตรวจสอบในกรณีนี้เร็วขึ้นหรือไม่ นิวัติไชยกล่าวว่า ต้องไปพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนว่าเอกสารรายละเอียดทางหลักฐานเป็นอย่างไรบ้าง ตนเองยังไม่เห็นเรื่องของรายละเอียด คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องไปดูเจตนาในทางคดีอาญา
เมื่อถามต่อว่าการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะต้องมีการไปขอกล้องวงจรปิดจากโรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ นิวัติไชยหัวเราะและกล่าวว่าจำเป็นต้องขอ
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นิวัติไชยกล่าวถึงกระแสข่าวโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่าจะต้องยุติลง หลัง เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่
โดยระบุว่ายังไม่ทราบข่าวว่าจะยุติหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายไหน ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการให้คำแนะนำหรือความเห็นตามกฎหมาย หากพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และนำไปสู่การทุจริตหรือคอร์รัปชัน ตรงนี้ต้องให้ข้อแนะนำเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ หากจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ นิวัติไชยกล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้บริหารและรัฐสภา
การพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของเศรษฐา
นิวัติไชยกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จากการเสนอชื่อ พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีการร้องเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมในชั้นของ ป.ป.ช. ด้วย ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เช่นเดียวกับกรณี 44 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ป.ป.ช. ก็จะต้องขอคัดคำวินิจฉัยเพื่อมาประกอบการพิจารณาในชั้นของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการไต่สวนเพราะต้องรอคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ส่วนจะทำให้ไวขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ตนไม่ขอก้าวล่วง
เชื่อว่าแม้เศรษฐาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่เป็นอุปสรรคยุ่งยากในการตรวจสอบ และคิดว่าเศรษฐาพร้อมชี้แจงอยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่ชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลาของการไต่สวนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง บางเรื่องสามารถไต่สวนได้ภายใน 1 ปี เพราะ ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาคดีจริยธรรมว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ก่อนที่จะส่งศาลฎีกาไปตามกฎหมาย
ยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ล่าช้า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากมีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจึงต้องไปทีละขั้นตอน เพราะหาก ป.ป.ช. วินิจฉัยไปก่อนแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปอีกทาง ผลก็จะตรงกันข้าม ดังนั้นทุกอย่างจะต้องนำมาประกอบกันก่อนวินิจฉัย
นิวัติไชยกล่าวด้วยว่า คดีนี้ ป.ป.ช. จะต้องไปดูมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ และต้องตีความ เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดที่เขียนไว้ชัดเจน ดังนั้นต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข้อใดของประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และต้องดูว่าข้อนั้นเป็นเรื่องจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
“อย่ามองว่าเป็นเรื่องเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ต้องพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ” นิวัติไชยกล่าว
ส่วนคดีอื่นของเศรษฐา เช่น คดีที่ถูกกล่าวหาว่าแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมิชอบ นิวัติไชยกล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม หลังมีการเสนอเรื่องเข้ามาเพื่อให้มีการไต่สวน แต่ที่ประชุม ป.ป.ช. เห็นว่าเนื่องจากนายกฯ เป็นตำแหน่งสูง เป็นผู้บริหารระดับประเทศ การดำเนินการต้องรอบคอบ ชัดเจน ก่อนจะเสนอในชั้นของคณะกรรมการ