ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ‘ป้าวันทนา’ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจังหวัดราชบุรี วัย 61 ปี ได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้าคดีจาก พ.ต.ต. จิรวัฒน์ ทองท่า สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีป้าวันทนาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดราชบุรี รวม 8 นาย ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขัง
รายละเอียดในหนังสือแจ้งความคืบหน้าคดี สรุปอย่างย่อได้ว่า ปปป. ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 61 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ดังนั้น ทาง ปปป. จึงส่งเรื่องให้ทาง ป.ป.ช. ดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับมูลเหตุของคดีนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ขณะนั้นป้าวันทนาได้ไปยืนรอขบวนรถของ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อจะร้องเรียนปัญหาเศรษฐกิจและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นกลับไล่ป้าวันทนาให้ไปร้องเรียนปัญหากับศูนย์ดำรงธรรมแทน แต่ป้าวันทนาแจ้งว่าตนเคยได้ไปร้องเรียนมาแล้ว และไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าล็อกคอ เอามือปิดปากและจมูก พร้อมกับลากตัวออกไปจากบริเวณดังกล่าว
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวป้าวันทนาขึ้นรถตู้และส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร (สภ.) บ้านโป่ง เพื่อดำเนินคดีในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำการอื้ออึงในที่สาธารณะ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งพนักงานอัยการคดีศาลแขวงราชบุรี มีคำสั่งฟ้องคดีป้าวันทนาต่อศาลแขวงราชบุรีในทั้ง 3 ข้อหาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 หรือวันถัดมาจากวันเกิดเหตุ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน ป้าวันทนาภายใต้ความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดราชบุรี รวม 8 นาย ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังฯ ต่อศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการตอบโต้ ปัจจุบันการดูแลเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้โอนย้ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาอยู่ภายใต้ความช่วยเหลือของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแทน
อ้างอิง: