วานนี้ (15 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถอนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะมีการพิจารณาร่วมกันในรัฐสภาวันนี้ (16 กุมภาพันธ์) ว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วมีปัญหาพอสมควร เรื่องใหญ่คือเรื่องที่องค์กรอิสระทั้งหลายไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมาย เขาบอกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียวที่จะฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีการเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 235 หากเราเอาผู้เสียหายไปฟ้องได้ เขาก็บอกว่าอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และในความหมายที่เขาตอบมาคือ หากเราผลักดันกฎหมายสำเร็จก็คงต้องส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาด้วย ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นว่าหากขัดรัฐธรรมนูญก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนี่เป็นความเห็นของ ป.ป.ช. โดยเลขาธิการได้มาแถลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสร็จแล้วบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานอัยการสูงสุดก็มีความเห็นเฉพาะว่า ให้ผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ แต่ถึงขนาดที่สามารถฟ้องเองได้เขายังไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่อได้มาคิดทบทวนประมวลดูแล้ว หากเราผลักดันต่อไปก็จะเป็นประเด็นปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจึงขอถอนเรื่องออกมาก่อน แล้วมาศึกษาในรายละเอียดให้รอบคอบว่าหากเสนอไปแล้วจะไม่เป็นปัญหา
ชูศักดิ์กล่าวต่อว่า ความหมายคือจะเขียนกฎหมายอย่างไรไม่ให้ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกหรือไม่ได้ดำเนินการ เราได้นำเรื่องนี้จัดไว้เป็นเรื่องที่เราแถลงนโยบายมาโดยตลอด เพียงแค่เอากฎหมายหรือร่างฯ กลับมาดูให้รอบคอบ ซึ่งได้นำเรียนวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ท่านก็ได้สั่งให้งดประชุม ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาที่จะเสนอสู่ที่ประชุมอีกครั้งนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกสักพัก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่ เพราะเพิ่งมีการเสนอร่างฯ เข้าไป ชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ ยื่นมานานแล้ว และพรรคการเมืองต่างๆ เขาก็มาดูคอมเมนต์ ดูที่เขาให้ความเห็น รวมถึง ป.ป.ช., อัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเมื่อดูความเห็นแล้วเขาก็เป็นห่วง