×

ไพบูลย์เผย ร่วม กมธ. ปราบโกงเป็นยุทธศาสตร์พรรค ย้ำไม่เพิ่มความขัดแย้งเสรีพิศุทธ์

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2019
  • LOADING...
ไพบูลย์ นิติตะวัน

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากพรรคพลังประชารัฐว่าพรรคมีมติให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แทน ดล เหตระกูล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนา

 

ไพบูลย์บอกว่าการเข้าไปทำหน้าที่นี้ไม่ได้เข้าไปเพื่อเพิ่มความขัดแย้ง แต่ทางพรรคคงเห็นว่าเคยมีประสบการณ์เป็นประธานกรรมาธิการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของวุฒิสภามาหลายปี จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลืองานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. และสัดส่วน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในคณะกรรมาธิการชุดนี้มีเพียง 3 คน จึงปรับให้เหมือนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นๆ ที่มี 4-5 คน 

 

“ยืนยันว่าการเข้าทำหน้าที่แทนดลไม่ได้เบียดเบียนโควตาของพรรคชาติพัฒนา เป็นเพียงการสับเปลี่ยนเพื่อให้ดลไปอยู่คณะกรรมาธิการที่เหมาะสม เพราะผมเองมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า ซึ่งน่าจะมีการแจ้งให้ที่ประชุมสภาทราบภายในวันนี้” ไพบูลย์กล่าว

 

ส่วนกระแสข่าวว่าเป็นการมอบหมายจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อคานอำนาจในคณะกรรมาธิการ ไพบูลย์กล่าวว่าเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่มอบหมายมาให้ทำงาน ยืนยันว่าการเข้าทำหน้าที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการหลายเรื่องอาจเกิดจากความไม่เข้าใจกฎหมาย ดังนั้นการเข้าไปทำหน้าที่จะทำให้มีความชัดเจนขึ้น ให้ข้อมูลด้านกฎหมายได้ เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ประเพณีปฏิบัติ และนำไปสู่ความเรียบร้อย

 

ส่วนข้อสังเกตว่าจะเข้าไปเพิ่มเสียงของกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลเพื่อปลด พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการสัปดาห์หน้า ไพบูลย์กล่าวว่าไม่ทราบเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมาชิกจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ส่วนตนเองไม่ได้จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อปลดประธานกรรมาธิการ แต่จะทำงานตามกฎหมายและความถูกต้อง ไพบูลย์ยังให้ความเห็นถึงการทำหน้าที่ของกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง สิระ เจนจาคะ และปารีณา ไกรคุปต์ โดยมองว่าทั้งสองคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามเอกสิทธิ์ และเป็นไปในแนวทางที่จำเป็นต้องทำ

 

“บทบาทการทำงานในคณะกรรมาธิการกับเรื่องส่วนตัวต้องแยกกัน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ต้องทำตามหน้าที่ ทำเกินหรือขาดไม่ได้ หากผมได้เข้าไปทำงาน เชื่อว่าคงจะมีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการ แม้จะเคยมีกรณีฟ้องร้องกับผมมาก่อน แต่คงไม่มีปัญหา เพราะท่านก็มีวุฒิภาวะ คงแยกแยะได้ว่าตนเองเข้ามาทำงาน ไม่ได้เข้าเพื่อไปมีปัญหา” ไพบูลย์กล่าว

 

สำหรับกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการโดยไม่มีมติที่ประชุม ไพบูลย์กล่าวว่าต้องรอเข้าไปทำหน้าที่ แต่คิดว่าเรื่องนี้ควรจะพักเอาไว้ และหยิบประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการว่าการให้ความเห็นบางเรื่องก็อาจเกินเลยไปบ้าง

 

เมื่อถามอีกว่าในประเด็นที่กรรมาธิการยังมีเจตนาเรียก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. ประวิตร มาชี้แจงด้วยตัวเองซ้ำหลายครั้งนั้นมองอย่างไร ไพบูลย์กล่าวว่าเป็นเรื่องไม่สมควรและควรยุติได้แล้ว ทั้งนี้แม้จะมีกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้นเป็น 4 คนนั้นก็ไม่ใช่ประเด็นที่ท่านจะมาอย่างสบายใจ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีประเพณีไหนที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงกรรมาธิการด้วยตนเอง มีเพียงส่งตัวแทนและหนังสือชี้แจงเท่านั้น 

 

ถามต่อว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ มาเองจะถือเป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองหรือไม่ ไพบูลย์กล่าวว่าไม่ควรมา ทั้งนี้ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้เปิดโอกาสและให้เวลาในที่ประชุมสภาเพื่อตอบข้อซักถามและประเด็นต่างๆ ของสมาชิกมากพออยู่แล้ว ดังนั้นหาก พล.อ. ประยุทธ์มา กรรมาธิการชุดนี้อาจจะมีอีกกว่า 30 คณะกรรมาธิการเชิญมาชี้แจง ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่มีเวลาทำงานในภารกิจ ซึ่งหากฝ่ายค้านต้องการสอบถามในประเด็นใด ตนสนับสนุนให้ใช้ที่ประชุมสภาโดยเฉพาะการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising