สำนักข่าว Reuters รายงานว่าหลายประเทศในยุโรปเร่งเดินหน้าตรวจสอบกรณีท่อส่งก๊าซ Nord Stream ทั้งหมายเลข 1 และหมายเลข 2 รั่วไหลในเวลาใกล้เคียงกัน โดยรัฐบาลของเยอรมนี เดนมาร์ก และสวีเดน ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การรั่วไหลของท่อส่งก๊าซในทะเลบอลติกครั้งนี้เกิดจากการถูกโจมตี
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซ ซึ่งรัสเซียและยุโรปร่วมกันสร้างขึ้นด้วยทุนหลายพันล้าน เกิดการรั่วไหลในครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผวา เศรษฐกิจยุโรป ถดถอย แค่ 6 สัปดาห์ เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท
- ‘นิวยอร์ก’ ยังรั้งเบอร์ 1 เมืองศูนย์กลางการเงินโลก สิงคโปร์แซงหน้าฮ่องกงขึ้นอันดับ 3 ส่วน ‘ไทย’ ตกไปอยู่ที่ 61
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวต่อบรรดาผู้นำภาคธุรกิจว่า การรั่วไหลนั้นเกิดจากการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่จงใจให้เกิดขึ้น และตอนนี้รัฐบาลเยอรมนีรู้อย่างหนึ่งว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เหตุการณ์ตามธรรมชาติ หรือปัญหาอุปกรณ์เสื่อมสภาพแน่นอน
ด้านนายกรัฐมนตรีสวีเดนและเดนมาร์กกล่าวว่า สาเหตุของการรั่วไหลชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยเจตนา โดยมีข้อมูลบ่งชี้ได้ว่าน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรม ขณะที่นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการก่อวินาศกรรม แต่ไม่หยิบยกหลักฐานมาอ้างอิงยืนยันใดๆ
เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครนรายหนึ่งระบุว่า รัสเซียจงใจให้เกิดการโจมตีเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพพลังงานของยุโรป กระนั้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด
ขณะที่ฝ่ายรัสเซียเองก็ออกมายอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่เหตุท่อส่งก๊าซรั่วไหลในครั้งนี้จะเป็นการก่อวินาศกรรม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำลายความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค
มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ แสดงความเห็นระหว่างร่วมพิธีเปิดท่อส่งใหม่ระหว่างนอร์เวย์กับโปแลนด์ ว่าเหตุ Nord Stream 1 และ 2 รั่วไหลเป็นการก่อวินาศกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครน ส่วนนายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวว่า มีการตรวจพบการระเบิดสองครั้งที่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหล และแม้จะมั่นใจว่าเหตุระเบิดดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการโจมตีสวีเดน แต่รัฐบาลสวีเดนได้ติดต่อกับพันธมิตร เช่น องค์การ NATO และเพื่อนบ้านเช่นเดนมาร์กและเยอรมนี เพื่อติดตามสืบสวนตรวจสอบเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นักแผ่นดินไหววิทยาในเดนมาร์กและสวีเดนระบุว่า พบบันทึกการระเบิดสองครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 กันยายน) ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับที่มีรายงานการรั่วไหล โดยศูนย์สำรวจธรณีวิทยาของเดนมาร์กและกรีนแลนด์มั่นใจว่า สัญญาณระเบิดดังกล่าวไม่ได้มาจากเหตุแผ่นดินไหว แต่เหมือนกับการระเบิดของวัตถุระเบิดมากกว่า ขณะที่นักแผ่นดินไหววิทยาของ Uppsala University ในสวีเดน กล่าวว่า แรงระเบิดดังกล่าวสอดคล้องกับไดนาไมต์ขนาด 100 กิโลกรัม แถมการระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นที่ก้นทะเล
เหตุท่อส่งก๊าซรั่วไหลครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับรัสเซียกำลังตึงเครียดจากกรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครน ทำให้ยุโรปเข้าร่วมสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย และส่งผลให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการตัดลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream ให้กับยุโรป โดยอ้างว่าเป็นปัญหาจากความไม่พร้อมของท่อที่ต้องซ่อมบำรุง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ทางบริษัท Nord Stream AG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 และ 2 ได้ออกมาเปิดเผยว่า ระบบท่อส่งก๊าซ Nord Stream ใต้ทะเลบอลติกประสบความเสียหายถึง 3 จุดภายในวันเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีการตรวจพบการรั่วไหลของก๊าซ 2 จุดในท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ขณะที่ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 มีการรั่วไหล 1 จุด และขณะนี้บริษัทยังคงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมนานเท่าใด
ขณะที่สวีเดนเปิดเผยว่า การรั่วไหลของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 รอยรั่วแรกเกิดขึ้นในบริเวณเขตเศรษฐกิจสวีเดน ขณะที่อีกรอยรั่วหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เขตประเทศโปแลนด์ ส่วนสำนักงานพลังงานเดนมาร์กประเมินว่าพิจารณาจากการรั่วไหล คาดว่าน่าจะใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์กว่าที่ก๊าซจะรั่วไหลหมด ทำให้พื้นผิวของทะเลดังกล่าวเต็มไปด้วยก๊าซมีเทน เพิ่มความเสี่ยงต่อการระเบิดในพื้นที่ และอาจทำให้เรือเสียการลอยตัวหากแล่นเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว
ขณะนี้ เบื้องต้นมีการสั่งปิดพื้นที่ดังกล่าวห้ามเรือแล่นผ่านโดยเด็ดขาด
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลค่อนข้างกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังหาสาเหตุของความเสียหายทางธรรมชาติบางอย่างที่ยังไม่อาจระบุได้ชัดเจนครั้งนี้
Reuters รายงานว่า แม้จะไม่มีการส่งก๊าซไปยังยุโรปขณะที่พบรอยรั่ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำลายความคาดหวังที่เหลืออยู่ว่ายุโรปจะได้รับพลังงานผ่าน Nord Stream 1 ก่อนฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ ภายหลังมีข่าวท่อส่งก๊าซรั่วไหล ราคาน้ำมันยุโรปปรับตัวสูงขึ้นตามข่าว โดยราคาพลังงานเดือนตุลาคมของเนเธอร์แลนด์ไต่ขึ้นเกือบ 10% ในวันอังคาร (27 กันยายน) แม้ว่าราคายังต่ำกว่าจุดสูงสุดของปีนี้ แต่ยังคงสูงกว่าช่วงต้นเดือนกันยายน 2021 มากกว่า 200%
อ้างอิง: