×

สัมภาษณ์พิเศษ Moritz Krueger ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mykita กับขอบเขตไม่สิ้นสุดของการผลิตแว่นตา

06.09.2018
  • LOADING...

‘แว่นตา’ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าสำคัญที่สร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก เพราะแค่ในปี 2017 ก็มีมูลค่าสูงถึง 117.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 182.42 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2023 ตามการวิจัยของกลุ่ม Zion Marker Research

 

ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีตัวเลือกล้นหลามในหลากหลายราคา ดีไซน์ หรือวัสดุที่นำมาใช้ ซึ่งเราจะเห็นผู้เล่นใหม่เดินเข้าตลาดแว่นตาอยู่ตลอดเวลา เพื่ออยากแย่งชิงสัดส่วนของเค้กในตลาดที่ถือว่ามีผลกำไรหอมหวาน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แว่นตาแฟชั่น แบรนด์แว่นตาวิทยาศาสตร์ แบรนด์แว่นตาวินเทจ แบรนด์ลักชัวรีที่ขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ผลิตแว่นตาเป็นตัวแทนจำหน่าย แบรนด์ลักชัวรีที่หันมาผลิตเอง หรือการร่วมมือของแบรนด์แฟชั่นกับแบรนด์แว่นตา

 

แต่เพราะมีตัวเลือกเยอะ การแข่งขันก็ย่อมสูงขึ้น และการจะอยู่อย่างยืนหยัดก็มาพร้อมความท้าทายที่แว่นตาของคุณต้องมีความแตกต่าง (Unique Selling Point) และตอบโจทย์ความต้องการของฐานลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ เพราะแว่นตาเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวคนตลอดเวลา

 

แน่นอนว่าคนที่เล่นแว่นตาก็จะรู้ดีว่าชื่อ ‘Mykita’ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้การยอมรับอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และได้กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้วงการแว่นตาไม่มากก็น้อย

 

THE STANDARD ได้สัมภาษณ์พิเศษกับ มอริตซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแบรนด์ Mykita เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของแบรนด์จากประเทศเยอรมนี การผลิตสินค้า และวิสัยทัศน์ที่ Mykita มีต่อธุรกิจและสังคม

 

 

ปี 2018 ถือว่าสำคัญสำหรับแบรนด์ Mykita เพราะครบรอบ 15 ปีที่อยู่ในวงการ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกคุ้มค่าและเหมือนถูกรางวัล! เราได้เห็นสินค้าทุกชิ้นตั้งแต่แรกเกิด การดีไซน์ การต้อง QC หลายๆ รอบจนกว่าจะใช่ และเห็นผลผลิตที่เราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าเราได้มันมาได้อย่างไร สิ่งสำคัญเกี่ยวกับขบวนการนี้คือความโปร่งใส และมีพลังจะสร้างสรรค์สินค้าที่แตกต่างในตลาด ซึ่งทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกสัดส่วนของบริษัท และเป็นสิ่งชี้ชัดถึงจุดยืนของเราที่อยากให้ลูกค้าทุกคนได้เห็นเช่นกัน

 

ถ้าให้ย้อนกลับไปตั้งแต่นับหนึ่ง Mykita เกิดขึ้นได้อย่างไร

Mykita กำเนิดที่เบอร์ลินในปี 2003 จากการรวมตัวของคนที่ต้องการสร้างบางสิ่งบางอย่างซึ่งขัดกับขบวนการผลิตแบบเดิมๆ ที่เห็นมาโดยตลอด แว่นตาเป็นสิ่งที่เราเลือกทำ เรามีมุมมองอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการทำสินค้าและรูปแบบธุรกิจที่ทำทุกขั้นตอนเอง อย่างเช่นในตอนแรกสิ่งที่เราออกแบบไม่มีใครยอมผลิตให้ เราเลยตั้งการผลิตขึ้นมาเองและลงทุนพวกเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมด ซึ่งจากตอนนั้นมา มันได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของเราในการดำเนินธุรกิจจนถึงทุกวันนี้


แว่นตารุ่นแรกที่คุณดีไซน์ให้ Mykita คืออะไร

เป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชันชื่อ ‘NO1’ ที่เราผลิตแว่นตา 30 ชิ้นที่ทำมาจากแผ่นสเตนเลสสตีลแบบบางเบาที่สามารถงอและพับได้ โดยเฉพาะตรงขาแว่นที่ไม่ต้องมีตัวน็อตหรือสกรูใดๆ เพื่อต่อตัวขากับกรอบแว่น ซึ่งกลไกนี้ได้กลายเป็นจุดเด่นของแบรนด์มาตลอด และนำมาปรับใช้ในแว่นตาทุกรุ่นของเรา

 


ชื่อ ‘Mykita’ มาจากไหน

ในภาษาเยอรมันคำว่า ‘Kita’ แปลว่าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งออฟฟิศแรกของเราเคยเป็นโรงเรียนอนุบาลมาก่อน เราเลยเรียกว่า ‘My-kita’

 

สำนักงานใหญ่ของแบรนด์ที่เบอร์ลินทำงานกันอย่างไร

เราเรียกสำนักงานใหญ่ของเราว่า ‘Mykita Haus’ ที่ทุกภาคส่วนตั้งแต่การคิดสินค้า ฝ่ายสื่อสาร จนถึงแผนกร้านค้าอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ซึ่งทำทุกอย่างอินเฮาส์ร่วมกัน

 

และกว่าจะทำแว่นตาหนึ่งชิ้นได้จากต้นจนจบใช้เวลาเท่าไร

เป็นคำถามที่ตอบยากมากถ้าต้องการคำตอบแบบตายตัว เพราะแว่นตาบางรุ่นที่ทำจากแผ่นสเตนเลสสตีลต้องผ่านกว่า 80 ขั้นตอนถึงจะแพ็กใส่กล่องและส่งไปที่ร้านได้

 

 

ทุกวันนี้มีแบรนด์แว่นตาใหม่ๆ เข้าตลาดมากมาย พร้อมราคา และจุดขายที่ต่างกัน คุณคิดว่าอะไรทำให้ Mykita ยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

ทุกกรอบแว่นตาของ Mykita เราผลิตจากโรงงานสมัยใหม่ที่มีอิสระทางความคิดและถูกเชื่อมต่อกับหลากหลายภาคส่วนภายใต้ร่ม ‘Mykita Haus’ ที่เราเอ่ยก่อนหน้านี้ และถึงแม้เราจะมีบางรุ่นที่ไปร่วมงานกับคนอื่นๆ แต่คนที่เราร่วมงานด้วยถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าของเขา

 

มากไปกว่านั้น เรามองว่าตัวเองเป็นแบรนด์แว่นตาที่อยู่ในสนามของเรื่องราวเทคโนโลยี และการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมมากกว่าแฟชั่น แม้เราจะทำงานกับแบรนด์แฟชั่นด้วย ซึ่งถ้าเจาะจงในเรื่องเทคโนโลยีเราก็มองว่า Mykita ไม่เคยมีขอบเขตในส่วนนี้ และพยายามสรรหาวิธีใหม่ๆ ในการผลิตแว่นตาที่เรามองว่าใช่และทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า

 

ทุกแบรนด์ที่ Mykita เคยร่วมงานและผลิตแว่นตาต่างมีตัวตนที่ชัดเจน คุณใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่ายอมร่วมงานด้วย

มันแล้วแต่เคส บางครั้งเพื่อนของเราเป็นคนเสนอมาให้ หรือบางครั้งอีกแบรนด์ก็จะติดต่อมาเองโดยตรง แต่จะร่วมงานกับใครก็ตาม เรามองว่าต้องมีโอกาสสร้างสรรค์แว่นตาที่จะสร้างความใหม่ให้วงการ และสะท้อนตัวตนของทั้งสองแบรนด์อย่างชัดเจน กว่าจะหาความสมดุลตรงนี้ก็ถือว่าท้าทาย และในหลายครั้งเราค้นพบว่าการเดินข้ามข้อจำกัดต่างๆ จะสร้างผลงานใหม่ได้

 

มากไปกว่านั้น สมัยนี้ผมเห็นการร่วมงานกันเยอะมาก แต่หลายครั้งสิ่งที่ทำออกมาก็ไม่มีความสัมพันธ์ที่สะท้อนตัวตนของทั้งสองแบรนด์ โดยสำหรับผมแล้ว สิ่งที่ทำให้เห็นว่าการร่วมงานในแต่ละครั้งมีคุณค่า คือการที่สานต่อโปรเจกต์ไปได้เรื่อยๆ หลายปี ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ

 

 

เราสนใจคอลเล็กชันที่ Mykita ร่วมงานกับแบรนด์ Maison Margiela อยากรู้ว่าการทำงานกับ จอห์น กัลลิอาโน ครีเอทีฟไดเรกเตอร์เป็นอย่างไร

เราดีใจตั้งแต่แรกที่ได้ทำงานกับทีมของจอห์น กัลลิอาโน เราได้สร้างลิงก์และรูปแบบการทำงานที่เข้าใจกัน บางครั้งทางเราเป็นคนเสนอไอเดียไปให้ ส่วนบางครั้งทางทีม Margiela เป็นคนตั้งโจทย์เอง โดยเฉพาะตอนที่ต้องทำแว่นตาสำหรับโชว์รันเวย์ที่ปารีส ซึ่งเราก็ต้องรีบผลิตแว่นตาที่สะท้อนมุมมองของคอลเล็กชันนั้นๆ อย่างชัดเจน

 

ในโลกดีไซน์กับแฟชั่น คำว่า ‘Diversity’ กำลังถูกพูดถึงเป็นประจำ เพราะบริบทสังคมขณะนี้ ซึ่งเราก็ได้เห็นจุดนี้ผ่านแคมเปญต่างๆ ของ Mykita มาโดยตลอด อยากรู้ว่าประเด็นนี้สำคัญสำหรับคุณมากน้อยแค่ไหน

เรามองว่าจะทีมงานของเราเองที่ Mykita Haus หรือลูกค้าที่มาซื้อแว่นตาก็มาจากทุกเชื้อชาติ ภูมิหลัง และยุคสมัย โดยมีตั้งแต่สายครีเอทีฟไปจนถึงสายธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาแชร์กันหมดคือการเห็นคุณค่าในตัวแบรนด์ และจุดยืนของเราเรื่องดีไซน์และความเป็นมาตั้งแต่แรกเริ่ม


และโปรเจกต์ในอนาคตของ Mykita มีอะไรบ้าง

‘อนาคต’ นั่นแหละคือโปรเจกต์ต่อไปของเรา

 

 

ภาพ: Courtesy of Mykita

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X