ถึงคิวฟาสต์แฟชั่นระดับโลก UNIQLO – Marks & Spencer ประกาศยุติการผลิตในเมียนมา หวั่นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่สงบทางการเมืองกระทบการดำเนินธุรกิจ
Nikkei Asia รายงานว่า ยักษ์แห่งวงการฟาสต์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Marks & Spencer ของอังกฤษ และ Fast Retailing เจ้าของแบรนด์ UNIQLO จากญี่ปุ่น ยุติการผลิตในเมียนมา เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม และความไม่สงบทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม Marks & Spencer หยุดดำเนินงานในเมียนมาไปเรียบร้อยแล้ว ส่วน UNIQLO จะผลิตสินค้าคอลเล็กชัน Fall/Winter 2023 เป็นล็อตสุดท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เชฟรอน’ ปิดฉากธุรกิจในเมียนมา ตัดสินใจขายโครงการยาดานาให้บริษัทจากแคนาดา
- สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐชินของเมียนมายังน่าห่วง หลังกองทัพโจมตีทางอากาศเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม
- บริษัทแม่ของ Uniqlo ประกาศเพิ่มค่าจ้างของพนักงานในญี่ปุ่นขึ้น 40% ทำให้ผู้จบใหม่จะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 76,000 บาท
แน่นอนว่าการยกเลิกดังกล่าวอาจกระทบต่อ Fast Retailing ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมค้าปลีกแฟชั่น ที่มีพันธมิตรด้านการผลิตกว่า 430 รายทั่วโลก เช่น จีน และเวียดนาม โดยเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น
หากย้อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 กองทัพเมียนมาทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ทำให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามที่รุนแรง แถมยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากถอนธุรกิจและการลงทุนออกจากเมียนมาไปจำนวนมาก
ไม่เว้นแม้แต่ Ryohin Keikaku บริษัทเจ้าของ MUJI เริ่มมีแผนเตรียมหยุดสั่งซื้อแจ็กเก็ตขนเป็ดและสินค้าอื่นๆ จากเมียนมาภายในเดือนสิงหาคม ปี 2023 ตามด้วย PRIMARK ร้านค้าปลีกฟาสต์แฟชั่น ก็มีแผนเตรียมถอนธุรกิจออกจากเมียนมาเช่นเดียวกัน
Ethical Trading Initiative ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า ภายใต้การปกครองของทหาร ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของแรงงานในโรงงานอยู่ที่ 4,800 จ๊าด (1.68 ดอลลาร์) ตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาด และตามจำนวนของประชากร ทำให้จัดหาแรงงานได้ง่ายขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานทำให้ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา และมีความเสี่ยงในการขนส่งสินค้า จึงเป็นเหตุผลให้หลายๆ ธุรกิจถอนตัวออกไป
แต่ก็ยังมีบางบริษัทพยายามปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจอยู่ในเมียนมา อย่างยักษ์ค้าปลีกแฟชั่น ZARA และ H&M ของสวีเดน ที่ยังคงจัดหาสินค้าจากเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: