สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Al Jazeera และ AFP รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นยุโรป ในระหว่างการประชุมวาระพิเศษโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมาชิกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ได้ลงมติเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่เข้ามาบริหารประเทศโดยชอบธรรมจากกระบวนการการเลือกตั้ง รวมถึงปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกจับกุมตัวอยู่ ณ ขณะนี้
ขณะที่ นาดา อัล-นาชีฟ (Nada Al-Nashif) รองข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งสาส์นไปยังกองทัพเมียนมาว่า ‘ทั่วโลก’ กำลังจับตาดูสถานการณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนจำนวนหลักแสนคนที่ออกมาเดินขบวนชุมนุม ประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารดังกล่าว
โดยนอกเหนือจาก ออง ซาน ซูจี แล้ว วี่น มหยิ่น ประธานาธิบดีเมียนมา และพลเรือนอีกราว 350 คน ประกอบด้วย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน, นักข่าว, นักเรียน, พระ ฯลฯ ยังถูกกองทัพทหารในเมียนมาจับกุมตัวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ UNHRC และนานาประเทศสมาชิกในยุโรปจะออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่รายงานจาก Al Jazeera และ AFP ก็ยังระบุอีกด้วยว่า ชาติพันธมิตรกองทัพเมียนมาอย่างรัสเซียและจีน ได้โจมตีการประชุมในวาระฉุกเฉินครั้งนี้ของ UNHRC ว่าไม่ต่างอะไรจากการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเมียนมา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: