×

ไขปมเมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร ทำหนุ่มสาวแห่หนีเข้าไทย ยอม ‘ไปตายเอาดาบหน้า’

22.02.2024
  • LOADING...
เมียนมาเกณฑ์ทหาร

การประกาศบังคับเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารเมียนมา สร้างความหวาดผวาแก่ประชาชนโดยเฉพาะหนุ่มสาวเมียนมา จนต้องพากันหาช่องทาง ‘หนี’ ออกจากประเทศ ทั้งแบบถูกกฎหมายเช่นการขอวีซ่าเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือการลักลอบหนีข้ามพรมแดน โดยไทยเราเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายมากที่สุด

 

เพราะอะไรกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารดังกล่าวจึงน่ากลัวถึงขนาดทำให้หนุ่มสาวเมียนมาเลือกทิ้งอนาคตในประเทศ และหนี ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ 

 

จุดเริ่มต้นของกฎหมายนี้เกิดจากอะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสถานการณ์ ‘สงคราม’ ระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังตึงเครียด

 

ชาวเมียนมาแห่ทำวีซ่า-ลักลอบข้ามแดนมาไทย

 

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ปรากฏรายงานข่าวชาวเมียนมาจำนวนมากพากันไปต่อแถวยาวที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อรอยื่นขอทำวีซ่าเดินทางเข้าไทย โดยสถานทูตต้องมีการแจกบัตรคิวและจำกัดจำนวนแค่ 400 คนต่อวัน แต่มีชาวเมียนมาที่ไปรอความหวังวันละกว่า 1,000-2,000 คน หลายคนมารอตั้งแต่เที่ยงคืน จนกระทั่งตีสามกว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะเปิดประตูด้านหน้าให้เข้าไปยังสถานทูต

 

สื่อต่างประเทศและสื่อท้องถิ่นของเมียนมาชี้ว่า การแห่ขอวีซ่าดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ต้องการหลบหนีการบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งครอบคลุมประชาชนหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 18 ปี

 

โดยหนุ่มสาวเมียนมาที่ไปขอวีซ่าหลายคนยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาทำอะไรในไทย จะเรียนต่อหรือหางานทำ โดยสิ่งที่พวกเขาต้องการอันดับแรกคือ ‘หนีออกจากเมียนมา’

 

ขณะเดียวกันในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ก็ปรากฏข่าวการจับกุมชาวเมียนมาอย่างน้อย 50 คนที่ลักลอบเข้าไทยบริเวณชายแดนอำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยส่วนใหญ่สารภาพว่ายอมจ่ายเงินให้นายหน้าพาเข้าไทยเพราะไม่อยากถูกเกณฑ์ทหาร

 

ด้านนักสิทธิแรงงานเมียนมา มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเตือนว่ากฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารดังกล่าวจะทำให้แรงงานผิดกฎหมายจากเมียนมาทะลักเข้าไทย และแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ยังเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลักลอบเข้าประเทศ  

 

ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำตอบต่อกรณีหนุ่มสาวชาวเมียนมาที่แห่ทำวีซ่ามาไทยว่า “การขอทำวีซ่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถ้าขอมาถูกต้องและทำถูกต้องเราก็ต้อนรับ แต่ถ้าลักลอบเข้ามา ไม่ได้แน่นอน” 

 

รายละเอียดกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร

 

กองทัพเมียนมาประกาศกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายเกณฑ์ทหารใหม่จำนวน 14 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 6.3 ล้านคน และหญิงอีก 7.7 ล้านคน ซึ่งผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี จะต้องเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปีหากถูกเรียกตัว

 

สำหรับบางอาชีพที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น แพทย์ และวิศวกร จะถูกกำหนดอายุสูงขึ้นที่ 45 ปีสำหรับผู้ชาย และ 35 ปีสำหรับผู้หญิง และระยะเวลาการรับใช้ชาติ 3 ปี

 

โดยระยะเวลารับราชการทหารสามารถขยายออกไปเป็น 5 ปีได้ในช่วงภาวะฉุกเฉินที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่รัฐประหาร

 

ซอ มิน ตุน ( Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวกับสื่อว่า ตั้งเป้าที่จะเกณฑ์ทหารใหม่ให้ได้เดือนละประมาณ 5,000 คน หรือ 10,000 คนใน 1 ปี โดยจะเริ่มต้นหลังจากเทศกาลติงยาน (Thingyan) หรือวันหยุดปีใหม่ของเมียนมาช่วงกลางเดือนเมษายน

 

การหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารจะถูกลงโทษทั้งปรับเงินและจำคุกสูงสุด 5 ปี โดยพระสงฆ์หรือนักบวชของศาสนาต่างๆ จะได้รับการยกเว้น ส่วนข้าราชการและนักศึกษาสามารถเลื่อนเวลาเกณฑ์ทหารออกไปได้ชั่วคราว

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ซอ มิน ตุน เผยว่าการบังคับเกณฑ์ทหารสำหรับผู้หญิงนั้นดูเหมือนจะระงับไปก่อน

 

แต่ถึงกระนั้นทางกองทัพก็เดินหน้าเตรียมความพร้อมรับทหารเกณฑ์ชุดใหม่ เช่นการสั่งโรงงานตัดเย็บของกองทัพให้ตัดเย็บเครื่องแบบสำหรับทหารเกณฑ์กว่า 1 แสนชุด

 

ทำไมต้องบังคับเกณฑ์ทหารตอนนี้?

 

ดร.มิน ซอ อู (Dr.Min Zaw Oo) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพและความมั่นคงแห่งเมียนมา ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพเมียนมามี  3 ประการ ได้แก่

 

  1. กองทัพเมียนมาประสบปัญหาในการเกณฑ์ทหารมาตลอดหลายทศวรรษ
  2. ไม่มีการเรียกระดมกำลังพลสำรองเข้ารับใช้ชาตินับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021
  3. ปฏิบัติการ 1027 ของกองกำลังชาติพันธุ์ที่เปิดฉากบุกตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมปีที่แล้วบานปลายและยืดเยื้อเป็นสงครามขนาดใหญ่ในหลายจุด กองทัพเมียนมาต้องเพลี่ยงพล้ำ เสียทั้งดินแดนและกำลังพลที่ถูกสังหารหรือยอมจำนน

 

ชาวเมียนมามองว่าอย่างไร?

 

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar: NUG) หรือรัฐบาลเงาที่มาจากอดีตรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ประณามกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารดังกล่าวว่าผิดกฎหมาย และชี้ว่าประชาชน ‘ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม’

 

NUG มองว่าการรัฐประหารของกองทัพนั้นผิดกฎหมาย และรัฐบาลทหารไม่มีอำนาจทางกฎหมายในเรื่องนี้ พร้อมทั้งชี้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวกำลังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเริ่ม ‘สิ้นหวัง’ หลังประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ และกำลังพยายามบังคับให้พลเรือนที่ไม่เคยฝึกการสู้รบ ต้องจับปืนต่อสู้ในแนวหน้าของสนามรบ ซึ่งแท้จริงอาจกลายเป็นเพียง ‘โล่มนุษย์’

 

ร.อ. เทต มยัต (Htet Myat) อดีตทหารแห่งกองทัพเมียนมาที่แปรพักตร์เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 บอกว่าเขาไม่แปลกใจกับกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร 

 

“กองทัพเมียนมามีการตรากฎหมายอาวุธปืน (เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว) โดยอนุญาตให้ผู้สนับสนุนกองทัพสามารถติดอาวุธได้ ดังนั้นผมจึงรู้ว่าสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้น” เขากล่าว และมองว่าการออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารนั้นบ่งชี้ว่ากองทัพเมียนมาได้ยอมรับความพ่ายแพ้แล้ว

 

นอกจากนี้ เขายังมองว่าการบังคับเกณฑ์ทหารอาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน โดยเจ้าหน้าที่กองทัพจะใช้โอกาสนี้เรียกรับสินบนจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่หวังซื้อทางออกให้ลูกๆ ไม่ต้องไปตายในสนามรบ

 

ทั้งนี้ ดร.มิน ซอ อู มองว่าครอบครัวชนชั้นกลางในเมียนมาไม่น้อยต้องพยายามดิ้นรนขายทรัพย์สินของตนเพื่อส่งบุตรหลานไปยังต่างประเทศและหลบเลี่ยงกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร

 

โดยหลังจากนี้คาดว่าอาจมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพย์สินจำนวนมากข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้น

 

“เมียนมากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมใหม่มากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีพลเมืองจำนวนมากหลบหนีออกจากเมียนมา” เขากล่าว และคาดว่าชาวเมียนมาที่จะย้ายมาใช้ชีวิตใหม่ในไทยลักษณะนี้อาจมีมากขึ้นอีก

 

ผลกระทบสงครามที่อาจรุนแรงขึ้น

 

ดร.มิน ซอ อู ชี้ถึงผลกระทบอื่นๆ จากการประกาศบังคับเกณฑ์ทหารดังกล่าว โดยสิ่งที่คาดการณ์ได้คือสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพกับกองกำลังชาติพันธุ์อาจทวีความรุนแรงขึ้น

 

“การเกณฑ์ทหารหมายถึงจะต้องมีการต่อสู้กันมากขึ้น กองทัพจะเริ่มการตอบโต้ นั่นหมายความว่าจะมีความรุนแรงมหาศาลเกิดขึ้น ความรุนแรงมากกว่าที่เราเห็นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

 

เขายังตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจของทหารเกณฑ์พลเรือนที่ต้องกลายไปเป็นทหารในสนามรบ แต่ก็มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่ากองทัพเมียนมาสามารถเปลี่ยนความคิดและจิตใจของพลเรือนไปเป็นทหารจริงๆ ได้หรือไม่

 

ส่วนกรณีที่กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารจะทำให้ประชาชนหันไปเข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือรัฐบาลเงามากขึ้นหรือไม่นั้น ดร.มิน ซอ อู มองว่าเขาไม่คิดเช่นนั้นเนื่องจาก “ประชาชนจำนวนมากในเมียนมาไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการสู้รบ เพราะไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกสังหาร

 

“แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่หลายคนยังต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมการสู้รบ สำหรับหลายๆ คนทางเลือกแรกคือการออกไปจากประเทศ”

 

อาเซียนทำอะไร (ได้) บ้าง?

 

การประกาศกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารถือเป็นเรื่องภายในของเมียนมา อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในหลายประเทศ ทำให้เป็นการยากที่ชาติอาเซียนจะเข้าไปมีส่วนแทรกแซงหรือกดดันรัฐบาลทหาร

 

แต่ ดร.มิน ซอ อู มองว่า ยังมีเหตุผลที่อาเซียนสามารถเข้ามามีบทบาทได้ เช่นกรณีที่การฝึกทหารเกณฑ์นั้นรุนแรงจนเกินขอบเขต และสงครามนั้นทวีความรุนแรงและก่อผลกระทบมากขึ้น

 

“อาจมีผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่งผลต่อความไร้เสถียรภาพของชายแดนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสังหารพลเรือนที่เพิ่มขึ้นด้วย นั่นถือเป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ”

 

แต่ทางออกที่ดีที่สุดของอาเซียนตอนนี้คือปฏิบัติตามแผนฉันทมติ 5 ประการ (Five-Point Consensus) ซึ่งเป็นแผนสันติภาพที่ตกลงกันระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับรัฐบาลทหารเมียนมา

 

ภาพ: STR / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising