ที่เมียนมา หลังจากอาเซียนตัดสินใจที่จะไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ และจะเชิญบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าว ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมนั้น
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ตุลาคม) มีแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ‘ปฏิเสธ’ การตัดสินใจนี้ โดยระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นโดย ‘ไม่มีฉันทามติ’
แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน อาทิ มาตราที่ระบุว่า หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอาจตัดสินว่าจะทําการตัดสินใจเฉพาะเรื่องนั้นอย่างไร หรือกรณีที่รัฐสมาชิกมีจุดยืนของแต่ละรัฐเกี่ยวกับสถานะของผู้แทนจากเมียนมา ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า อยู่ภายใต้บริบทของการตีความบทบัญญัติบางส่วนในกฎบัตรอาเซียน ที่จะต้องได้รับการจัดการด้วยบทบัญญัติว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท และยังอ้างอิงถึงหลักการ เช่น อำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค การไม่แทรกแซงกิจการภายใน เป็นต้น
“ประมุขแห่งรัฐหรือรัฐบาลเมียนมามีสิทธิเท่าเทียมกันและเต็มที่ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ “เมียนมาจะไม่อยู่ในฐานะที่จะยอมรับผลการหารือและการตัดสินใจใดๆ ที่กระทำเกินกว่าอำนาจ และขัดต่อบทบัญญัติ วัตถุประสงค์ และหลักการอันเป็นที่ยึดถือของกฎบัตรอาเซียน”
สำนักข่าว Reuters ระบุข้อมูลของสหประชาชาติว่า มีพลเรือนกว่าพันคนถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงเมียนมาและอีกหลายพันคนถูกจับกุม ท่ามกลางการปราบปรามการประท้วงและนัดหยุดงานซึ่งการปราบปรามดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยที่ยังไม่แน่นอนต้องหยุดชะงักและกระตุ้นให้เกิดการประณามจากนานาชาติ แต่รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตดังกล่าวนั้นเกินจริง Reuters ยังระบุว่า การตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศในการประชุมฉุกเฉินดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่กล้าหาญอย่างผิดปกติสำหรับกลุ่มที่ขับเคลื่อนโดยฉันทามติ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะสนับสนุนนโยบายการมีส่วนร่วมและไม่แทรกแซง
อีกด้านหนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเช่นกัน พรรคที่ใกล้ชิดฝ่ายทหารเมียนมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเปิดการพูดคุยกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ในขณะที่ทหารระดับนายพลต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นให้ยุติความวุ่นวายนองเลือดที่ยาวนานเกือบ 9 เดือน
“เราต้องพูดคุยเพื่อผลประโยชน์ของคนในประเทศของเราทุกคน… มันจะยากที่จะหาทางออกหากเรายังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้” นันดา หล้า มี้น โฆษกของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งใกล้ชิดกับฝ่ายทหารระบุกับสำนักข่าว AFP
“ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับผิดชอบต่อประเทศ… รัฐบาลรักษาการของเขาเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุดในการทำให้การเจรจาเกิดขึ้น” เขาระบุ และแม้เขาจะไม่ได้กล่าวว่าการหารือดังกล่าวควรมี ออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกขับจากตำแหน่งรวมอยู่ด้วยหรือไม่ แต่เขาก็ชี้ว่าซูจีไม่ได้สนับสนุนความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร
นันดา หล้า มี้น ยังบอกว่าการจัดการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารซึ่งขนานนามตัวเองเป็นสภาบริหารแห่งรัฐระบุว่า จะมีขึ้นในปี 2566 อาจเกิดการนองเลือดมากขึ้นหากวิกฤตไม่ได้รับการแก้ไข
“ผู้คนจำนวนมากจะถูกสังหาร หากไม่มีหลักประกันสำหรับชีวิต… ของผู้สมัครที่จะแข่งขันในการเลือกตั้ง (ครั้งต่อไป)” เขาระบุ
ภาพ: Photo by Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
- http://www.mfa.gov.bn/Lists/Press%20Room/news.aspx?id=947
- https://www.facebook.com/513368565530110/posts/1882286995304920/?d=n
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/myanmar-rejects-asean-decision-exclude-junta-leader-summit-2021-10-22/
- https://www.france24.com/en/live-news/20211022-myanmar-junta-aligned-party-calls-for-dialogue-with-coup-dissidents
- https://www.channelnewsasia.com/asia/myanmar-junta-coup-dialogue-asean-min-aung-hlaing-2262851
- https://www.channelnewsasia.com/asia/myanmar-junta-asean-summit-snub-reject-decision-2262906
- https://www.asean.org/wp-content/uploads/images/archive/AC-Thai.pdf