การรวมตัวของชาวเมียนมาในไทย เพื่อต่อต้านการรัฐประหารภายในประเทศยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) มีการนัดหมายการชุมนุมในช่วงบ่ายที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN โดยคาดว่ามีชาวเมียนมาเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 500 คน
“เราต้องการประชาธิปไตย รัฐบาลของประชาชน และไม่อยากกลับคืนไปสู่การปกครองโดยทหารแบบเดิม” เสียงสะท้อนจากชาวเมียนมาคนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมในวันนี้ ขณะที่ป้ายซึ่งเขียนข้อความภาษาอังกฤษ และกำกับด้วยภาษาไทยว่า “กองทัพที่นายพลออง ซาน ก่อตั้งไม่ใช่เพื่อฆ่าประชาชนของตนเอง” ถูกนำมากางในพื้นที่การชุมนุม และมีเสียงตะโกนจากชาวเมียนมาดังก้องเป็นระยะว่า “พวกเราต้องการประชาธิปไตย”
พระสงฆ์ สุภาพสตรีแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ นักธุรกิจ ลูกจ้างในโรงงาน ล้วนออกมาแสดงพลังในวันนี้ ด้วยเป็นวันสำคัญของชาวเมียนมา เนื่องจากเป็นวันเกิดของ “นายพลออง ซาน” บิดาของ ออง ซาน ซูจี ผู้เป็นเหมือนมารดาของพวกเขาที่ต่อสู้ และนำประชาธิปไตยมาลงหลักปักฐานที่เมียนมาแทนการปกครองด้วยระบอบทหาร ซึ่งอยู่กับพวกเขาบางคนนานเกินกว่าครึ่งชีวิต
สำหรับ นายพล ออง ซาน หรือ อู อองซาน เกิดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 ที่เมืองนัตเม่าก์ บิดาคือ อูเผ่า เป็นทนายความ มารดาชื่อ ด่อซู ผู้เป็นปู่คือ โบมีงยอง นักต่อสู้ที่ต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อนายพล ออง ซาน ในเวลาต่อมา ที่ทำให้เขาเป็นคนที่เคารพในความถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม เด็ดขาด และตรงไปตรงมา อีกทั้งยังเป็นผู้นำ ‘สมาคมชาวเราพม่า’ หรือพรรคตะขิ่น (Thakin) ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ต่อต้านอังกฤษซึ่งยึดเมียนมาเป็นอาณานิคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1855 ซึ่งบทบาทนี้เองทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประเทศเมียนมาในยุคปัจจุบัน
นายพล ออง ซาน มีชีวิตอยู่ไม่ถึงวันที่เมียนมาได้รับเอกราช เนื่องจากถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 มีอายุแค่เพียง 32 ปี โดยการลอบสังหารครั้งนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งภายในของเมียนมาเอง ผู้ที่เป็นหัวหน้าการลอบสังหารคือ อูซอ ซึ่งต่อมาเขาถูกจับและได้รับโทษแขวนคอ
นายพล ออง ซาน ยังเป็นบิดาของออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งล่าสุดถูกยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา และยังถูกควบคุมตัวหลังการรัฐประหาร ทำให้ประชาชนชาวเมียนมาร่วมกันแสดงพลังบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์