จ่อ โม ทุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาที่ถูกขับจากตำแหน่งภายหลังรัฐประหารของกองทัพ กำลังมองหาช่องทางที่จะนำตัวผู้ก่อความรุนแรงต่อประชาชนมารับผิดชอบ โดยหนึ่งในทางเลือกคือ การยื่นดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เพื่อสืบสวนกรณีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากเมียนมาไม่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีหรือรัฐสมาชิกของ ICC
“ICC นั้นเป็นหนึ่งในทางเลือก เราไม่ใช่รัฐภาคีของ ICC แต่เราจำเป็นต้องตรวจสอบช่องทางและวิธีการ เพื่อนำคดีเข้าสู่ ICC” จ่อ โม ทุน กล่าว
ทั้งนี้ กองทัพและตำรวจเมียนมาเพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นรายวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงวันนี้ (19 มีนาคม) มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของทางการรวมแล้วอย่างน้อย 224 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริง
ขณะเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประณามการกระทำของรัฐบาลทหารที่บังคับขับไล่ จับกุม และกักตัวโดยไม่มีเหตุผล และสังหารกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนานาชาติกดดัน เพื่อให้มีการนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมารับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่ากองกำลังความมั่นคงจะใช้กำลังปราบปรามการประท้วงต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น
ผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายในเมียนมายังส่งผลให้ประชาชนในหลายเมืองทยอยอพยพลี้ภัยไปอาศัยในพื้นที่ปกครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยบางส่วนหนีข้ามพรมแดนไปยังอินเดีย
ขณะที่ท่าทีของสมาชิกอาเซียนพบว่า เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม) พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารของเมียนมา ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหาร
ในระหว่างการประชุม พลอากาศเอก ฮาดี จาห์ฮียานโต (Hadi Tjahjanto) ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนเมียนมา แต่ไม่มีการแสดงท่าทีกดดันหรือเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียพยายามเป็นตัวแทนอาเซียนในการใช้ช่องทางการทูตเพื่อสนับสนุนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ในเมียนมา และมีการหารือปัญหานี้ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: