×

ผลกระทบรัฐประหาร ทำองค์กรชนกลุ่มน้อยเมียนมารับมือโควิด-19 ด้วยตัวเอง เร่งตรวจเชื้อ-ฉีดวัคซีนประชาชน

11.05.2021
  • LOADING...
ชนกลุ่มน้อยเมียนมารับมือโควิด-19 ด้วยตัวเอง

สำนักข่าว Al Jazeera รายงานผลกระทบจากเหตุรัฐประหารในเมียนมา ที่ส่งผลให้การรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศล่มสลาย และทำให้องค์กรติดอาวุธชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มจากทั้งหมดกว่า 20 กลุ่มทั่วประเทศ ที่มีพรมแดนติดกับไทย จีนและอินเดีย ต้องพยายามเดินหน้าหาทางป้องกันการแพร่ระบาดด้วยตนเอง ทั้งการตรวจเชื้อและจัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) และองค์กรคะฉิ่นอิสระ (KIO) เป็น 2 องค์กรชนกลุ่มน้อยที่พยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้น

 

โดย KNU ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในแถบเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ติดกับพรมแดนไทย ได้จัดตั้งทีมรับมือโรคระบาดฉุกเฉินขึ้นในพื้นที่ปกครองของตนเองทั้ง 7 เขต เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งช่วงก่อนรัฐประหารนั้นประชาชนในพื้นที่ไม่มีการเดินทางมากนัก และมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพียง 3 คน โดยมีอัตราการตรวจเพียงวันละ 18 คน 

 

แต่หลังเหตุรัฐประหารและการสู้รบระหว่างกองกำลัง KNU กับกองทัพรัฐบาลที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีการอพยพและเคลื่อนย้ายผู้คนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่ง KNU ยังเสนอให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ทำให้มีนักเคลื่อนไหวหลายพันคนจากเมืองต่างๆ หนีเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตปกครองของ KNU ส่งผลให้ต้องมีการลงทะเบียนและตั้งศูนย์กักตัวเพื่อรองรับ 

 

“ก่อนการรัฐประหารชุมชนต่างๆ อยู่แยกกัน เราไม่ได้ข้ามจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตอนนี้ผู้คนกำลังวิ่งไปที่นี่และที่นั่น สิ่งสำคัญคือผู้คนจากเมืองต่างๆ กำลังมาหาเรา เราลงทะเบียนให้พวกเขา ก่อนส่งพวกเขาไปยังศูนย์กักตัว” Saw Diamond Khin หัวหน้ากรมอนามัยและสวัสดิการกะเหรี่ยงกล่าว ขณะที่การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมายังทำให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่กว่า 40,000 คนทิ้งบ้านเรือนและหนีไปหลบซ่อนในป่า

 

ด้านคณะกรรมการสาธารณสุขชาติพันธุ์ (Ethnic Health Committee) ซึ่งเป็นพันธมิตรขององค์กรสาธารณสุขชนกลุ่มน้อยทั่วเมียนมา ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ระบุว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย กำลังเผชิญภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่รุนแรงขึ้น นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ซึ่งการตัดระบบสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้การปฏิบัติการด้านสาธารณสุขต่างๆ ต้องหยุดชะงัก 

 

พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มการสนับสนุนแก่องค์กรสาธารณสุขของชนกลุ่มน้อย และเรียกร้องไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้อนุญาตจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ข้ามพรมแดนเข้าไปยังพื้นที่ชนกลุ่มน้อย

 

ทางด้านองค์กรคะฉิ่นอิสระ (KIO) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและมีเขตปกครองติดกับมณฑลยูนนานของจีน ได้เริ่มต้นความพยายามรับมือวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยเริ่มตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองด้วยชุดตรวจเชื้อที่ได้รับบริจาคจากจีนและสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันตรวจได้กว่าวันละ 600 คน และที่ผ่านมาตรวจเชื้อประชาชนไปแล้วมากกว่า 10,000 คน พบผู้มีผลตรวจเป็นบวกเพียง 20 คน และไม่พบการแพร่เชื้อจากภายในพื้นที่

 

Hing Wawm หัวหน้าคณะกรรมการรับมือโควิด-19 ของ KIO เผยว่า ทางคณะกรรมการยังคงเดินหน้ารับมือสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แม้จะไม่สามารถตั้งด่านตรวจเพื่อเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวในพื้นที่หรือประสานกับโรงพยาบาลที่อยู่นอกพื้นที่

 

ขณะที่ KIO ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายใต้การปกครองอายุตั้งแต่ 18-60 ปีไปแล้วกว่า 20,000 คน โดยใช้วัคซีนจากบริษัท Sinovac Biotech ที่ได้รับความช่วยเหลือจัดหาให้โดยสภากาชาดจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดส่งไปเพิ่มอีกหลังจากนี้เพื่อฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ทุกคน แม้บางชุมชนจะยังไม่กล้าฉีดเนื่องจากกังวลในความปลอดภัยต่อวัคซีนจากจีน ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising