ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่รายงานหัวข้อ ‘การค้าความตายพันล้านดอลลาร์: เครือข่ายอาวุธระหว่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา’
เนื้อหารายงานระบุว่า กองทัพเมียนมาได้มีการนำเข้าอาวุธคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
โดยอาวุธดังกล่าวพบว่าถูกส่งมาจากรัสเซีย จีน และหลายบริษัทในสิงคโปร์ อินเดีย และไทย ซึ่งจากข้อมูลในรายงานพบว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มาจากบริษัทในรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 406 ล้านดอลลาร์ บริษัทในจีน 254 ล้านดอลลาร์ บริษัทในสิงคโปร์ 254 ล้านดอลลาร์ บริษัทในอินเดีย 51 ล้านดอลลาร์ และบริษัทในไทยอีก 28 ล้านดอลลาร์
ซึ่งการนำเข้าอาวุธครอบคลุมไปถึงอาวุธที่มีเทคโนโลยีแบบใช้สองทาง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสำหรับพลเรือนและกองทัพ ตลอดจนวัสดุที่ใช้ผลิตอาวุธ
“อาวุธเหล่านี้และวัสดุในการผลิตอาวุธเหล่านี้จำนวนมากยังคงถูกส่งไปยังกองทัพเมียนมาอย่างไม่ขาดสาย แม้จะมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมอันโหดร้าย” รายงานระบุ พร้อมทั้งเผยว่า มีบันทึกการสั่งซื้อหรือการจัดส่งไปยังกองทัพเมียนมาหรือผู้ค้าอาวุธของเมียนมาที่ทำงานให้กองทัพจำนวนมากกว่า 12,500 รายการ โดยไม่ซ้ำกัน
“มากกว่า 947 ล้านดอลลาร์ของการค้าอาวุธที่เกี่ยวข้องซึ่งตรวจสอบพบ ถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานที่ควบคุมโดยกองทัพเมียนมา เช่น กองอำนวยการจัดซื้อจัดจ้าง กองอำนวยการอุตสาหกรรมกลาโหม หรือสาขาเฉพาะของกองทัพ เช่น กองทัพอากาศเมียนมา หรือโรงเรียนฝึกพื้นฐานของกองทัพ นั่นหมายความว่ากองทัพเองถูกระบุเป็นผู้รับในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งขจัดข้อสงสัยว่าใครคือผู้รับปลายทาง”
รายงานยังระบุว่า “ความหลากหลายและปริมาณของสินค้าที่มอบให้กับกองทัพเมียนมานับตั้งแต่รัฐประหารนั้นน่าตกใจอย่างมาก”
โดยกองทัพเมียนมาได้รับมอบอาวุธและยุทโธปกรณ์ตั้งแต่เครื่องบินรบไปจนถึงโดรน อุปกรณ์สื่อสาร และชิ้นส่วนต่างๆ สำหรับเรือของกองทัพเรือ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัสเซียและจีนกล่าวหาผู้รายงานพิเศษของ UN ว่ากล่าวหาเกินกว่าเหตุและ ‘ดูหมิ่นการค้าอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมาย’
ส่วนอินเดียชี้แจงว่า สัญญาซื้อขายอาวุธที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของรัฐนั้นได้รับการลงนามโดยรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้
ขณะที่แอนดรูว์ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีบริษัทที่รัฐบาลไทยหรือสิงคโปร์เป็นเจ้าของหรือควบคุมการดำเนินกิจการ หรือแม้แต่หน่วยงานหลักของรัฐบาลเอง ที่ได้อนุมัติการขายหรือจัดส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา ซึ่งดูเหมือนว่าพ่อค้าอาวุธอาจใช้ไทยและสิงคโปร์เป็นพื้นที่ในการทำธุรกิจมากกว่า
ภาพ: Aung Kyaw Htet / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: