รัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาออกมาแก้ต่างกรณีสั่งประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จนถูกประณามจากนานาประเทศ โดยยืนยันว่าการประหารชีวิตเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย และทำเพื่อความยุติธรรมสำหรับประชาชน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 กรกฎาคม) รัฐบาลทหารเมียนมาได้ลงโทษประหารชีวิต เพียว เซยาร์ ตอ อดีต ส.ส. 2 สมัย จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD), จ่อ มิน ยู หรือ จิมมี โก นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดัง และนักกิจกรรมอีก 2 คน คือ ฮลา เมียว ออง และ ออง ธูรา ซอ โดยนักโทษการเมืองทั้ง 4 ราย ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนช่วยเหลือขบวนการต่อต้านของพลเรือน ที่สู้รบกับทหารเมียนมาตั้งแต่ในช่วงการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงจนเป็นเหตุนองเลือด ส่งผลให้ประชาคมโลกออกมาประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมที่มุ่งกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง
ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า การประหารชีวิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่ดำเนินการภายใต้กฎหมาย และได้ให้โอกาสชายทั้งสี่ต่อสู้คดีแล้ว พร้อมกล่าวด้วยว่า รัฐบาลทราบดีว่าการประหารชีวิตครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีของเมียนมา จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของเมียนมา ซึ่งก่อตั้งโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้แทนชนกลุ่มน้อย และนักเคลื่อนไหว กล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องตอบสนองต่อการกระทำของรัฐบาลทหาร โดยวอนขอให้ประชาคมโลกร่วมลงโทษต่อการกระทำอันโหดร้ายนี้
ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมาประณามอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ รวมถึง ออง ซาน ซูจี ด้วย
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, เกาหลีใต้, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า “การสั่งประหารชีวิตเป็นการใช้ความรุนแรงที่ต้องถูกประณาม ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการใช้ระบอบการปกครองที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม”
เชียรา แซนจอร์จิโอ ที่ปรึกษาด้านโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำสั่งประหารชีวิตเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ และมั่นใจว่ารัฐบาลทหารจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น ส่วน อีเลน เพียร์สัน รักษาการผู้อำนวยการขององค์กร Human Rights Watch ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า นี่เป็นการกระทำที่โหดร้าย ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การสร้างความหวาดกลัว เพื่อให้การประท้วงต่อต้านรัฐประหารสงบลง
ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศกำลังเตรียมพิจารณาบทลงโทษต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงที่เป็นช่องทางรายได้ของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่นำมาใช้ก่อความรุนแรงต่อประชาชนภายในประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก็มีประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกจับกุมไปแล้วกว่า 14,847 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีประชาชน 11,759 รายที่ยังถูกคุมขังอยู่
แฟ้มภาพ: Thet Aung / AFP
อ้างอิง: