แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันรู้สึก ‘หวาดกลัว’ กับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในหลายเมืองของเมียนมาเมื่อวันเสาร์ (27 มีนาคม) ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันกองทัพของเมียนมา
บลินเคนกล่าวว่า การสังหารผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คนแสดงให้เห็นว่า “รัฐบาลทหารจะสังเวยชีวิตของประชาชนเพื่อรับใช้คนเพียงไม่กี่คน ประชาชนที่กล้าหาญของเมียนมาปฏิเสธการปกครองที่น่าสะพรึงกลัวของทหาร”
ก่อนหน้านี้สถานทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า กองกำลังความมั่นคง “สังหารพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ” ขณะที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำเมียนมากล่าวว่า วันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มีนาคม) ซึ่งเป็นวันกองทัพของเมียนมา “จะถูกจารึกในฐานะวันแห่งความหวาดกลัวและความอัปยศ”
ด้าน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า เขา “ตกใจอย่างมาก” ขณะที่ โดมินิก ราบบ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษกล่าวถึงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดว่าเป็น “จุดต่ำสุดครั้งใหม่”
การปราบปรามพลเรือน ซึ่งรวมถึงเด็กๆ จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตครั้งใหญ่นี้มีขึ้นในขณะที่ผู้ประท้วงฝ่าฝืนคำเตือนของกองทัพ และพากันออกไปชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในเขตและเมืองต่างๆ
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 ราย ขณะที่สื่อท้องถิ่นระบุว่าตัวเลขดังกล่าวสูงกว่านั้น
“พวกเขาเข่นฆ่าเราเหมือนกับเราเป็นนกหรือไก่ แม้แต่ในบ้านของเราเอง” ชาวบ้านรายหนึ่งในเมืองมยินจาน ทางตอนกลางของประเทศ กล่าวกับสำนักข่าว Reuters
“เราจะประท้วงต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามการประท้วงในเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้นเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 400 คนแล้ว
ทั้งนี้ชาวเมียนมาพากันออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยภาพที่แชร์กันบนโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นภาพของผู้คนที่มีบาดแผลจากกระสุนปืน และภาพครอบครัวผู้สูญเสียที่กำลังไว้ทุกข์ให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก
จอ วิน ผู้อำนวยการเครือข่ายสิทธิมนุษยชนเมียนมา (Burma Human Rights Network) ในสหราชอาณาจักรบอกกับ BBC ว่า กองทัพเมียนมาแสดงให้เห็นว่า กองทัพนั้นมีอำนาจไร้ขีดจำกัดและไม่มีหลักการ
“มันคือการสังหารหมู่ ไม่ใช่การปราบปรามอีกต่อไป” จอ วิน กล่าว
มีรายงานการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยใช้กระสุนจริงในมากกว่า 40 จุดทั่วประเทศ
Myanmar Now ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 114 คน ขณะที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าได้รับรายงานผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ด้าน AAP รายงานว่าในบรรดาผู้เสียชีวิต มีเด็กหญิงอายุ 13 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านของเธอเอง
พยานและแหล่งข่าวหลายรายเผยกับ BBC Burmese เกี่ยวกับการสังหารผู้ประท้วงในเมืองและเขตต่างๆ เช่น มะเกว, โมกก และเจาะบะต้อง
นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตในนครย่างกุ้งและบนท้องถนนในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง โดยบรรดาผู้ประท้วงถือธงของพรรค NLD และชูสามนิ้ว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการต่อต้านเผด็จการในขณะนี้
กองทัพไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวการสังหารผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ขณะที่ในการปราศรัยทางโทรทัศน์ของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมา และผู้นำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี กล่าวว่ากองทัพต้องการ “ร่วมมือกับประชาชนทั้งประเทศเพื่อปกป้องประชาธิปไตย”
“การกระทำรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงเพื่อที่จะทำการเรียกร้องต่างๆ นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม” เขากล่าว
ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกของเมียนมาเปิดเผยว่า เครื่องบินทหารพุ่งเป้าโจมตีมายังพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของทหาร โดยการโจมตีดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU กล่าวว่ากลุ่มสหภาพได้บุกฐานทัพแห่งหนึ่งใกล้กับชายแดนไทย
ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม KNU และกองทัพเมียนมากลับมาตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่สงบศึกกันไปก่อนหน้านี้
ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: