สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีคำสั่งระงับหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ประสบภัยไซโคลนโมคานับล้านรายในพื้นที่รัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตก แม้ว่าจะยังมีผู้ประสบภัยจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หลังจากที่เผชิญผลกระทบความเสียหายที่รุนแรงจากการพัดกระหน่ำของพายุมากว่า 1 เดือน
OCHA ระบุว่า การตัดสินใจระงับการเข้าถึงความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยดังกล่าวส่งผลให้การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อผู้ประสบภัยไซโคลนเป็นอัมพาต และทำให้การแจกจ่ายความช่วยเหลือที่สามารถช่วยชีวิตประชาชนจำนวนมากถูกตัดขาด
รามานาธาน บาลากริชนัน (Ramanathan Balakrishnan) ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่วานนี้ (12 มิถุนายน) ว่า “เป็นเวลา 4 สัปดาห์แล้วในการรับมือภัยพิบัติครั้งนี้ และด้วยฤดูมรสุมที่กำลังดำเนินไป มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่หน่วยงานด้านมนุษยธรรมถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ” และชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวอย่างร้ายแรงสำหรับประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
“เมื่อชุมชนที่เปราะบางต้องการความช่วยเหลือจากเรามากที่สุด เราก็ถูกบังคับให้หยุดแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องอุปโภคบริโภค” เขากล่าวเสริม
ไซโคลนโมคาพัดเข้าถล่มชายฝั่งทางภาคตะวันตกของเมียนมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรงมากที่สุดที่เมียนมาเคยเผชิญมา
ขณะที่รัฐยะไข่ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากไร้ที่สุดของประเทศ ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุที่มีความแรงลมมากกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งส่งผลทำลายอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทำให้ถนนและระบบการสื่อสารถูกตัดขาด และเกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร โดยกระทบประชาชนทั่วทั้งรัฐกว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งรวมถึงประชาชนหลายพันคนที่พลัดถิ่นอยู่แล้วจากสถานการณ์ขัดแย้งในพื้นที่และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาตั้งแต่ก่อนเผชิญพายุ
OCHA ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ประสบภัยในรัฐยะไข่ที่ได้รับที่พักพิงและสิ่งบรรเทาทุกข์อื่นๆ แล้วราวมากกว่า 1.1 แสนคน ขณะที่ประชาชนเกือบ 3 แสนคนได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารแล้ว
ด้านสำนักข่าว CNN รายงานว่า กว่า 1 เดือนนับตั้งแต่ที่พายุพัดถล่ม ยังมีประชาชนหลายครอบครัวในรัฐยะไข่ที่ต้องอาศัยอยู่นอกบ้าน และยังคงต้องการเสบียงอาหารและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ
ซึ่งที่ผ่านมาการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่เป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากการเดินทางเข้าสู่รัฐยะไข่ถูกจำกัดอย่างเข้มงวด และหน่วยงานช่วยเหลือจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตเดินทางล่วงหน้า 1 เดือน
ภาพ: Sai Aung Main / AFP
อ้างอิง: