×

สรุปความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับเมียนมา อาเซียนตั้งทูตพิเศษแก้วิกฤต ขณะที่สหรัฐฯ หารืออาเซียน-รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

05.08.2021
  • LOADING...
สรุปความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับเมียนมา

มีความเคลื่อนไหวล่าสุดที่สำคัญหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาในรอบสัปดาห์ ทั้งการดำเนินการของอาเซียน ท่าทีของสองรัฐมนตรีสหรัฐฯ ที่คนหนึ่งร่วมวงประชุมกับอาเซียน อีกคนหนึ่งพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และความเคลื่อนไหวจากทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติที่บอกว่ามีภัยคุกคามต่อตัวเขาเอง THE STANDARD สรุปความเคลื่อนไหวเหล่านี้มาไว้ที่นี่

 

  • เริ่มจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา แถลงการณ์ร่วมจากบรรดารัฐมนตรีระบุว่า มีการแต่งตั้ง เอริวาน ยูโซฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไนเป็นทูตพิเศษในเมียนมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ที่เกิดขึ้นหลังกระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตในเมียนมาล่าช้ามาหลายเดือน

 

  • โดยข้อ 93 และ 94 ในแถลงการณ์ร่วมจากรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนที่มีขึ้นหลังการประชุมประจำปี ซึ่งมีบรูไนดารุสซาลามเป็นประธานการประชุม ระบุใจความสำคัญว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงพัฒนาการล่าสุดในเมียนมาและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตและความรุนแรง และได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติ

 

  • ที่ประชุมยังยินดีต่อเจตนารมณ์ของเมียนมาต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ จากการประชุมของผู้นำอาเซียนเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา และต่อการยอมรับในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อใน ‘เวลาที่เหมาะสมและเป็นไปอย่างครบถ้วน’ นอกจากนี้ยังยินดีต่อการแจ้งข้อมูลล่าสุดโดยเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับสถานะของฉันทามติ 5 ข้อ ถัดมาในแถลงการณ์จึงเป็นการระบุถึงการแต่งตั้งทูตพิเศษดังกล่าว ตามด้วยข้อความเกี่ยวกับการรับทราบการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหุ้นส่วนภายนอกต่อความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติดังกล่าวอย่าง ‘รวดเร็วและสมบูรณ์’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

  • “เรายินดีกับการแต่งตั้งโดยประธานอาเซียนให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบรูไนดารุสซาลามคนที่ 2 เป็นทูตพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเมียนมา ผู้ซึ่งจะเริ่มทำงานในเมียนมา ซึ่งรวมไปถึงการสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจโดยเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

 

  • ต่อมาแถลงการณ์ดังกล่าวยังกล่าวถึงการยืนยันบทบาทของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA) ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาตามที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อ และสนับสนุนให้คณะกรรมการของศูนย์ AHA เริ่มการทำงานด้านคำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายในการปฏิบัติตามฉันทามติดังกล่าวด้วย

 

  • สำนักข่าว AP ตั้งข้อสังเกตจากแถลงการณ์ดังกล่าวว่าบรรดารัฐมนตรีย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา แต่ตัดสินใจที่จะไม่เรียกร้องการปล่อยตัวถูกคุมขังทางการเมือง และใช้เพียงคำว่าพวกเขา “ได้ยินเสียงเรียกร้อง” เพื่ออิสรภาพของผู้ถูกคุมขัง ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนไหวของประเด็นดังกล่าว

 

  • AP ยังรายงานว่า ยูโซฟอยู่ในกลุ่มแคนดิเดตจำนวน 4 รายที่ถูกเสนอชื่อโดยอาเซียน และเชื่อว่าเมียนมาให้การสนับสนุนแคนดิเดตอีกรายหนึ่งซึ่งเป็น ‘อดีตนักการทูตของไทย’ มากกว่า การตัดสินใจยอมต่อแรงกดดันของอาเซียนบ่งชี้ว่าผู้นำทหารของเมียนมายังคงหวังที่จะพึ่งพาการสนับสนุนจากอาเซียนในขณะที่เผชิญกับการประณามจากนานาชาติ

 

  • ซิดาร์โท ซูรโยดิพูโร หัวหน้าด้านความร่วมมืออาเซียนของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า นับเป็นกระบวนการที่ยากลำบากในการเกลี้ยกล่อมเมียนมาให้ไว้วางใจทูตและกระบวนการไกล่เกลี่ย เขาระบุว่ายูโซฟถูกคาดว่าจะจัดทำกำหนดเวลาต่างๆ ในภารกิจของเขาเพื่อบรรเทาความรุนแรงและพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และบอกว่าแถลงการณ์ร่วมนั้นไม่เท่ากับการที่อาเซียนยอมรับรัฐบาลทหาร และเมียนมาต้องทำงานร่วมกันในบริบทของอาเซียนตอนนี้ เพราะความสำเร็จของทูตพิเศษก็จะเป็นความสำเร็จของเมียนมาในการแก้วิกฤตที่ซับซ้อน ขณะที่ กษิต ภิรมย์ สมาชิกบอร์ดของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ยูโซฟจะต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่กลายเป็นเบี้ยในเกมของรัฐบาลทหารในการใช้อาเซียนเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในระดับสากล

 

  • ทั้งนี้บรรดานักการทูตระบุว่า ยังไม่แน่ชัดว่าผู้นำทหารของเมียนมาจะอนุญาตให้มีการเข้าถึง ออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกคุมขังพร้อมกับผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ และอยู่ระหว่างการไต่สวนในข้อหาต่างๆ หรือไม่ แม้จะมีการแต่งตั้งทูตพิเศษแล้วก็ตาม

 

  • ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานอีก 3 ความเคลื่อนไหวสำคัญ กรณีแรกเกี่ยวข้องกับการตั้งทูตพิเศษดังกล่าวด้วย คือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในการประชุม เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติความรุนแรงโดยทันที ฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้อาเซียนทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความรับผิดชอบต่อฉันทามติ 5 ข้อ และยินดีต่อการแต่งตั้งยูโซฟเป็นทูตพิเศษของอาเซียนไปยังเมียนมา

 

  • กรณีต่อมาคือการได้สนทนากันระหว่าง เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กับ ซีน มา อ่อง ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลพลเรือนและคานอำนาจกับกองทัพ ซึ่งมีการอภิปรายถึงความพยายามในการทำให้เมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย รวมถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนความพยายามในการต่อสู้กับการติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา และความพยายามให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญแก่ประชาชนชาวเมียนมาด้วย การพูดคุยดังกล่าวเป็นการติดต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของทางการสหรัฐฯ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาที่มีการประกาศออกมาเป็นครั้งแรก

 

  • และกรณีสุดท้ายคือความเคลื่อนไหวของ จ่อ โม ทุน ทูตของเมียนมาประจำสหประชาชาติที่ถูกรัฐบาลทหารสั่งปลดด้วยเหตุผลว่า ‘ทรยศต่อชาติ’ หลังเรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้วิธีการที่จำเป็นในการยุติการรัฐประหาร ระบุกับ Reuters ว่ามีรายงานภัยคุกคามบางอย่างต่อเขา และทางการสหรัฐฯ ได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับเขาแล้ว แต่มีรายละเอียดอื่นใดมากกว่านี้ ทั้งนี้เขายังคงสถานะการเป็นทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติอยู่ เพราะสหประชาชาติยังไม่รับรองการยึดอำนาจของกองทัพ โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาการแต่งตั้งว่าเขาจะได้ดำรงตำแหน่งต่อไป หรือจะถูกแทนที่ด้วยทูตที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งใหม่ในเดือนหน้า

 

  • กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและมีการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่ามีบุคคลกว่า 900 คนถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เสียชีวิตจำนวนมากเสียชีวิตในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล การต่อต้านที่เพิ่มขึ้นทั้งในเขตเมืองและชนบทก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นทหารและตำรวจเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้เมียนมายังพบการระบาดของโควิดที่เป็นงานหนักของระบบสาธารณสุข ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐประหารเมียนมา เพิ่งปรับสภาบริหารแห่งรัฐที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารเป็นคณะรัฐบาลรักษาการชุดใหม่ ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนไปถึงเดือนสิงหาคม 2566 และแม้จะบอกว่าจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคที่เสรีและยุติธรรม แต่ก็กล่าวถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของ ออง ซาน ซูจี ที่ถูกยุบไปว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

 

ภาพ: Brendan McDermid / REUTERS

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X