รัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาแสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน ที่ไม่ให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้
การตัดสินใจไม่ให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ เกิดขึ้นระหว่างการประชุมฉุกเฉินของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามคำแถลงของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนสมัยปัจจุบัน
บรูไนกล่าวในแถลงการณ์ว่า บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากเมียนมาจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หลังจากไม่มีฉันทามติให้ผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วมการประชุม
รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนยังกล่าวด้วยว่า มี “ความคืบหน้าไม่เพียงพอ” ในแผนโรดแมปฟื้นฟูสันติภาพในเมียนมา ซึ่งรัฐบาลทหารได้ตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งมี “ความกังวล” เกี่ยวกับการให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาลทหารในการจัดการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศแนะนำให้อาเซียนให้พื้นที่แก่เมียนมาเพื่อฟื้นฟูกิจการภายในและกลับสู่ภาวะปกติ” ถ้อยแถลงระบุ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้ออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของอาเซียน โดยระบุว่า “ผิดหวังอย่างยิ่งและคัดค้านอย่างยิ่ง” ที่เมียนมาถูกกีดกันออกจากการประชุมสุดยอด
“การอภิปรายและการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นการเป็นตัวแทนของเมียนมาเกิดขึ้นโดยไม่มีฉันทามติ และขัดต่อวัตถุประสงค์ของอาเซียน” กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาระบุ
“การเพิกเฉยต่อขนบธรรมเนียมอันดีงามของอาเซียนในการส่งเสริมเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย และการแก้ไขความแตกต่างผ่านการปรึกษาหารือ และความเห็นพ้องต้องกันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน” แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้โฆษกรัฐบาลทหารของเมียนมาออกมากล่าวโทษการแทรกแซงจากต่างประเทศว่าเป็นเหตุให้ชาติสมาชิกอาเซียนตัดสินใจดังกล่าว
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงเมื่อวันเสาร์ว่า สิงคโปร์สนับสนุนการตัดสินใจของอาเซียน โดยกล่าวว่าเป็น “การตัดสินใจที่ยากแต่จำเป็น” เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องน่าเชื่อถือของอาเซียน
CNN รายงานว่า การตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่ให้ผู้แทนของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดถือเป็นก้าวที่กล้าหาญและเกิดขึ้นไม่บ่อย เนื่องจากโดยปกติที่ผ่านมาอาเซียนสนับสนุนนโยบายการมีส่วนร่วมและการไม่แทรกแซง
นอกจากนี้ การตัดสินใจดังกล่าวของอาเซียนยังถือเป็นการดูหมิ่นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับ มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้นำการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และควบคุมตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พลเรือนหลายพันคนถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา และอีกหลายพันคนถูกจับกุม ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารกล่าวว่าการประมาณการยอดผู้เสียชีวิตนั้นเกินจริง
ในเดือนสิงหาคม มิน อ่อง หล่าย ประกาศตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และในระหว่างการปราศรัยต่อประชาชนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เขาย้ำคำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2023 และกล่าวด้วยว่ารัฐบาลของเขาพร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้แทนระดับภูมิภาคในประเด็นที่เกี่ยวกับเมียนมา
ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: