×

‘80 วัน ยึด 33 เมือง’ กลุ่มชาติพันธุ์เมียนมารุกหนัก ถล่มทัพเผด็จการทหาร กับข้อตกลงหยุดยิงที่ไม่มีจริง

18.01.2024
  • LOADING...

สงครามระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ’ (Three Brotherhood Alliance) ทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 มกราคม) จะปรากฏสัญญาณบวก จากการที่ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงชั่วคราวภายหลังการเจรจาที่นครคุนหมิง ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นตัวกลาง 

 

แต่สัญญาณนั้นกลับ ‘หายไป’ อย่างรวดเร็ว หลังมีรายงานการละเมิดข้อตกลงและเปิดฉากสู้รบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายอ้างว่าอีกฝ่ายโจมตีก่อน

 

และนี่คือภาพรวมสถานการณ์ในเมียนมานับตั้งแต่ที่กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพเปิดฉากสงครามภายใต้ปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 จนถึงวันนี้ (17 มกราคม) ผ่านไปประมาณ 80 กว่าวัน พบว่ารัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาสูญเสียไปแล้ว 33 เมือง และกำลังสูญเสียโมเมนตัมในการสู้รบมากขึ้นเรื่อยๆ

 

33 เมืองใน 80 วัน และการหยุดยิงที่ไม่มีจริง

 

ภายในระยะเวลาไม่กี่วันหลังเริ่มปฏิบัติการ 1027 พันธมิตรสามภราดรภาพ ประกอบด้วย กองทัพอาระกัน (AA), กองกำลังโกก้าง หรือกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) สามารถนำกำลังเข้ายึดหลายเมืองสำคัญทางตอนเหนือของรัฐฉาน เช่น เมืองชินฉ่วยฮ่อและแสนหวี 

 

ขณะที่การสู้รบเริ่มขยายไปยังเขตสะกาย รัฐกะฉิ่น ชิน และรัฐกะเหรี่ยง โดยกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA), กองทัพปลดปล่อยประชาชนบามาร์ (BPLA), กองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) และแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDF) 

 

โดยกองกำลัง PDF ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงาเมียนมา ยังได้เข้ายึด 3 เมืองในเขตสะกาย จากความร่วมมือกับกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA), กองทัพอาระกัน (AA) และกองกำลังปกป้องรัฐชิน (CNDF)

 

ช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นช่วงที่กองกำลังชาติพันธุ์เดินหน้ารุกไล่ทหารเมียนมาอย่างหนักและบุกเข้ายึดครองเมืองต่างๆ ทั้งในตอนเหนือของรัฐฉานและรัฐชินได้สำเร็จรวมแล้วเกือบ 30 เมือง 

 

หลังขึ้นปีใหม่ในวันที่ 4 มกราคม กองทัพเมียนมาก็ได้สูญเสียเมืองเล่าก์ก่าย เมืองเอกของเขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะฐานที่มั่นของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากจีน ที่มีคนไทยและคนอีกหลายชาติตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ โดยกองกำลัง MNDAA ได้เข้าควบคุมและประกาศให้เมืองนี้กลายเป็น ‘เขตปลอดเผด็จการทหาร’ 

 

จากนั้น MNDAA ยังได้ยึดเมืองโหป่างและปันหล่อง และได้ส่งมอบให้กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในเมียนมา ขณะที่กลุ่ม TNLA  ก็ได้เข้ายึดเมืองโก้ดขาย 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพและรัฐบาลทหารเมียนมาที่นครคุนหมิง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีน มีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงชั่วคราวในพื้นที่สมรภูมิทางตอนเหนือของรัฐฉาน 

 

แต่หลังจากนั้นก็ปรากฏรายงานจากสื่อเมียนมา เช่น Irrawaddy และ Radio Free Asia ว่า การหยุดยิงนั้นยุติลง โดย Irrawaddy รายงานว่า กองทัพรัฐบาลทหารได้ละเมิดข้อตกลงในวันรุ่งขึ้นด้วยการโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่ใส่เป้าหมายกองกำลังชาติพันธุ์ในหลายเมือง และเกิดการปะทะกับกองกำลัง TNLA ในเมืองจ็อกเม, ล่าเสี้ยว และโมกก์

 

ขณะที่เมืองปะแลตวะในรัฐชิน เป็นเมืองล่าสุดที่กองกำลังชาติพันธุ์เข้ายึดไว้ได้ และประกาศเป็นเขตปลอดทหารเช่นเดียวกัน ทำให้จนถึงตอนนี้มี 33 เมืองแล้วที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์

 

โอกาสลุกลามสู่รัฐล้มเหลว

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองฉากทัศน์ของสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ณ ตอนนี้อาจเป็นไปได้ 2 มุม คือ

 

  1. การเจรจาสันติภาพโดยมีจีนเป็นตัวคั่นกลาง อาจช่วยไม่ให้กองกำลังชาติพันธุ์เคลื่อนทัพรุกไปถึงใจกลางอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น เมืองหลวงอย่างเนปิดอว์ และเมืองข้างเคียงอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และตะนาวศรี
  2. ฝ่ายต่อต้านยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะบีบให้กองทัพเมียนมายอมเจรจา เพื่อรักษาศูนย์กลางอำนาจไม่ให้ถูกทำลาย 

 

อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่า หากมองย้อนไปในอดีต ช่วงที่เมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษใหม่ๆ ในปี 1948 ก็เคยเกิดสงครามกลางเมือง และอำนาจของกองทัพเมียนมาในช่วงนั้นก็อ่อนมาก แต่ท้ายที่สุดก็สามารถกลับมาฟื้นฟูและไล่โจมตีกลุ่มกบฏได้ สะท้อนว่าสถานการณ์ ณ ตอนนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากหลายๆ ปัจจัย

 

ขณะที่ทิศทางของสถานการณ์ในระยะยาวก็อาจเกิดได้ 2 มุม คือ

 

  1. เมียนมาอาจก้าวไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) หรือรัฐที่ใกล้จะล่มสลาย จากการที่สงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ ความเกลียดชังระหว่างผู้คน ประชาชน และรัฐบาลทหาร ที่เพิ่มมากขึ้น และการที่รัฐบาลประสบปัญหาในการส่งมอบบริการสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชน
  2. เมียนมาอาจถูกแบ่งเป็น 2-3 ส่วน ได้แก่ ใจกลางอำนาจ และอีกส่วนจะเป็นพื้นที่รอบนอก เป็นดินแดนสมาพันธรัฐทั้งเขตปลดปล่อย NUG รัฐว้า ตลอดจนพื้นที่ปกครองของรัฐชาติพันธุ์อื่นๆ 

 

โดย รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า “สิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลทหารคือ การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางไม่ให้ประเทศแตกแยก แต่หากการสู้รบยังเดินหน้าตึงเครียดต่อไปเช่นนี้ ในระยะยาวทางออกของประเทศก็คงหนีไม่พ้นการเจรจาพูดคุยเรื่องการแบ่งอำนาจหรือสหพันธรัฐ”

 

‘จีน’ ตัวกลางสันติภาพหรือผู้หนุนหลังกองกำลังชาติพันธุ์

 

ปฏิบัติการ 1027 ของพันธมิตรสามภราดรภาพ เกิดขึ้นโดยมีสโลแกนว่า ‘กวาดล้างแก๊งหลอกลวง ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติของเรา’ ซึ่งออกแบบมาเพื่อชนะใจพันธมิตรสำคัญรายที่ 4 ซึ่งก็คือ ‘จีน’ 

 

โดยจีนซึ่งมีพรมแดนติดกับเขตปกครองตนเองโกก้างในรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา แสดงความไม่พอใจที่แก๊งอาชญากรจากจีนผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเผด็จการทหาร 

 

คาดว่ามีเหยื่อของขบวนการนี้กว่า 120,000 คนถูกหลอกให้ไปทำงานและควบคุมตัวในเมียนมา ในจำนวนนี้มีชาวจีนที่ทั้งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้หลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว

 

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา พันธมิตรสามภราดรภาพพยายามบุกยึดเขตปกครองตนเองโกก้างมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ล้มเหลว กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม จึงสามารถยึดเมืองเล่าก์ก่าย เมืองเอกของโกก้าง และฐานที่มั่นสำคัญของแก๊งอาชญากรจีนไว้ได้

 

โดยเขตโกก้างนั้นมีความเชื่อมโยงกับจีนมายาวนาน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่จำนวนมากเป็นชนพื้นเมืองชาวจีน ร้านค้าและอาคารบ้านเรือนจำนวนมากมีป้ายภาษาจีนติดให้เห็นเป็นปกติ โดยในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พื้นที่นี้ยังทำหน้าที่เป็นฐานทัพของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเมียนมาด้วย

 

หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์เมียนมาในปี 1989 เผิงเจียเฉิง ขุนศึกในท้องถิ่นซึ่งถูกขนานนามว่า ‘กษัตริย์โกก้าง’ ได้หันไปจงรักภักดีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งกองทัพเมียนมายอมให้โกก้างเป็นเขตปกครองตนเอง และอนุญาตให้เผิงคงกองกำลังของเขาในพื้นที่ แม้ว่าจะยังมีจีนเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญ

 

ในปี 2009 เผิงถูกโค่นล้มในการทำรัฐประหาร ซึ่งนำโดย ไป่ซั่วเฉิง ผู้นำอันดับ 2 โดยไป๋อนุญาตให้กองทัพรัฐบาลประจำการอยู่ในโกก้าง ในขณะที่ชาวบ้านได้รับสัญชาติเมียนมา

 

ขณะที่ไป๋ยังเปิดพื้นที่ให้แก๊งอาชญากรจากจีนหนีข้ามพรมแดนเข้ามาซ่อนตัวและเคลื่อนไหวตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อแลกกับ ‘ส่วย’ จำนวนมหาศาล ซึ่งยังเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย ส่งผลให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในโกก้าง โดยเฉพาะที่เล่าก์ก่าย ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

ส่วนเจียเฉิง ภายหลังถูกโค่นอำนาจก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะผู้นำของ MNDAA โดยต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเป็นครั้งคราว แต่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ

 

หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 2022 เผิงเติ้นเหริน ลูกชายของเขา ได้เข้ามารับช่วงต่อและวางแผนยึดคืนเขตอำนาจในโกก้างที่เสียไปทันที และเข้าร่วมในพันธมิตรสามภราดรภาพ เปิดฉากปฏิบัติการ 1027 

 

การรุกคืบเข้ายึดพื้นที่โกก้างและกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างรวดเร็ว โดยส่งตัวผู้ร่วมขบวนการกว่า 40,000 คนให้ทางการจีน ทำให้จีนเริ่มหันมาแสดงบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในปัญหาความขัดแย้งของเมียนมา โดยเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างพันธมิตรสามภราดรภาพกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา 

 

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ความสำเร็จช่วงแรกของปฏิบัติการจากฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ แท้ที่จริงแล้วอาจเกิดขึ้นเพราะได้รับการสนับสนุนจากจีน

 

“ผู้นำจีนอาจพยายามยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว รัฐบาลจีนสามารถใช้ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อสนับสนุนกองกำลังท้องถิ่นอย่างลับๆ ในขณะที่ควบคุมพื้นที่ด้วยวิธีนั้น” เติ้งอวี่เหวิน นักวิจารณ์การเมืองและอดีตนักข่าวชาวจีน กล่าว 

 

โดยเขาชี้ว่า การสนับสนุนปฏิบัติการของกองกำลังชาติพันธุ์ นอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนและความสำคัญของจีนต่อเมียนมาแล้ว ในขณะเดียวกันก็ขจัดภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย และเชื่อว่าผู้นำคนใหม่ของกองกำลังชาติพันธุ์ที่จะเข้ามาควบคุมเขตปกครองตนเองโกก้าง จะต้องสะท้อนผลประโยชน์ของจีนได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค ให้ความเห็นต่อบทบาทของจีนต่อสถานการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น โดยมองว่า นอกจากประเด็นปัญหาแก๊งอาชญากรรมแล้ว เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลเช่นกัน เช่น หากรัฐบาลเมียนมายอมไฟเขียวโครงการเมกะโปรเจกต์ของจีนอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกในรัฐอาระกัน จีนก็อาจจะพอใจและมีส่วนช่วยยับยั้งท่าทีของกองกำลังชาติพันธุ์ไม่ให้รุกคืบไปถึงใจกลางอำนาจของรัฐบาลทหารได้ แม้จะยับยั้งได้ไม่ทั้งหมดก็ตาม

 

ไทยชูบทบาทข้างอาเซียน หนุนสันติภาพเมียนมา

 

ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือ Diplomacy Dialogue on Myanmar โดยย้ำจุดยืนและบทบาทของไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาว่า “ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ ทั้งร่วมกับอาเซียนและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ตลอดจนหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเมียนมา”

 

ขณะที่ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายในเมียนมาจะต้องมีส่วนร่วมในการเจรจา เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและทางออกทางการเมืองอย่างสันติ

 

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสิ่งแรกที่ไทยจะดำเนินการในทันทีคือ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่เมียนมาต้องการ โดยเฉพาะข้อริเริ่มในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 

 

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค แสดงความเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลไทยว่า ในแง่หลักการก็สมเหตุสมผล โดยไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด ก็ต้องมีบทบาทที่แอ็กทีฟขึ้นโดยอัตโนมัติ 

 

ซึ่งประเด็นที่ควรพูดถึงเยอะคือ เรื่องระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ที่จะช่วยส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของไทยทั้งในด้านการทูตและมนุษยธรรม แต่ก็มีข้อพึงระวังคือ การเลือกพื้นที่ชายแดนสำหรับเปิดระเบียงมนุษยธรรม เนื่องจากพื้นที่ของฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์อาจมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบต่างกัน และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับไทยได้

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising