เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงทำงานแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวทั่วประเทศเมียนมา โดยสหประชาชาติเตือนว่า การขาดแคลนเวชภัณฑ์ในเมียนมาได้กลายเป็นอุปสรรคต่อภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดทะลุ 1,600 คน
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า เวลานี้ประชาชนเมียนมาประสบภาวะขาดแคลนยาและเครื่องมือการแพทย์ขั้นรุนแรง ซึ่งรวมถึงชุดปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ถุงบรรจุเลือด ยาสลบ และอุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ภารกิจกู้ภัยมีความยากลำบากมากขึ้น
นอกจากนี้ซากปรักหักพังและถนนที่ถูกตัดขาดในหลายพื้นที่ก็เป็นอุปสรรคต่อการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเมียนมาด้วย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พอรองรับผู้ประสบภัยจำนวนมาก
เมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างหนักมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางส่วนเข้าถึงพื้นที่ เช่น เมืองมัณฑะเลย์ มะกเว เนปิดอว์ และสะกายในเขตตอนกลางและตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ประสบปัญหาในการดูแลผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนในเขตภาคใต้มีอีกหลายเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ยองชเว กะลอ และปินหลวง
“มีประชาชนหลายพันคนต้องนอนข้ามคืนบนถนนหรือในพื้นที่เปิด เนื่องจากบ้านได้รับความเสียหายจนอยู่ไม่ได้หรือกลัวว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก” OCHA ระบุในแถลงการณ์
ด้าน อาร์โนด์ เดอ แบ็ก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำประเทศเมียนมา แสดงความกังวลว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มีนาคม) ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ชุมชนทั่วเมียนมา มีรายงานผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน ผู้พลัดถิ่นและผู้สูญหายจำนวนมาก รวมถึงความเสียหายอย่างกว้างขวางต่ออาคาร ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จำนวนผู้ประสบภัยยังคงเพิ่มขึ้นทุกชั่วโมง ผู้คนยังคงอยู่ภายนอกอาคารด้วยความหวาดกลัวต่ออาฟเตอร์ช็อก ระบบไฟฟ้าและเครือข่ายการสื่อสารล่มในบางพื้นที่
เดอ แบ็ก กล่าวว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชนในเมียนมาที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่แล้วจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมา 4 ปีระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ
ผอ. ICRC ประจำเมียนมา ระบุว่า กำลังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความต้องการเร่งด่วน และเตรียมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ โดยประสานงานกับสภากาชาดเมียนมาและพันธมิตรสภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง
“ด้วยความร่วมมือกับสภากาชาดเมียนมา เราเตรียมให้การสนับสนุนฉุกเฉินในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่พักพิง อาหาร และน้ำ การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับผู้บาดเจ็บ การสนับสนุนการจัดการศพอย่างปลอดภัย การช่วยให้สมาชิกในครอบครัวที่พลัดพรากจากกัน หรือไม่ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของคนที่พวกเขารัก ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง” เดอ แบ็ก กล่าว
เวลานี้มีหลายประเทศและองค์การระหว่างประเทศได้ส่งทีมกู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในเมียนมาเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ส่วนไทย รัฐบาลได้สั่งการให้กองบัญชาการกองทัพไทยดูแลการช่วยเหลือประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ โดยวันนี้ ทหารไทยจำนวน 55 นาย ได้ออกเดินทางตั้งแต่เวลา 07.00 น. ไปยังสนามบินปลายทางในพื้นที่มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และย่างกุ้ง โดยมีเป้าหมายประสานภารกิจ และเคลื่อนย้ายกำลังชุดช่วยเหลือค้นหา และบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief: HADR)
กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นปฏิบัติการระยะแรก โดยในระยะต่อไป รัฐบาลไทยจะประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ในการจัดส่งสิ่งของที่จำเป็น เช่น อาหาร เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เงินช่วยเหลือ และสิ่งของที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบต่อไป
นอกจากนี้รัฐบาลและกองทัพได้พิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน และยังสามารถบริหารศักยภาพและทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบ บนพื้นฐานมนุษยธรรมและความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีต่อกัน
ภาพ: REUTERS / Stringer
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/world/live-news/myanmar-thailand-earthquake-03-29-25-intl-hnk/index.html
- กระทรวงการต่างประเทศ
- สำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำประเทศเมียนมา